กรุงเทพฯ 14 ก.พ.-กรมสรรพากร จับมือธนาคารกรุงไทย เพิ่มทางเลือกใหม่ให้ผู้เสียภาษี ยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอปฯ “เป๋าตัง”
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร และนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ร่วมลงนามในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่าง กรมสรรพากร กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษี เข้าใช้งานระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”
กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานจัดเก็บภาษีที่ให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เสียภาษี สะดวกรวดเร็วและใช้บริการได้อย่างปลอดภัย โดยคำนึงถึงความรอบคอบและให้ความระมัดระวังเรื่องของข้อมูลภาษี ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งกรมสรรพากรมีนโยบายพัฒนาการให้บริการผู้เสียภาษีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่มีมาตรฐาน และมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นสิ่งที่กรมสรรพากรให้ความสำคัญ จึงร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”
นับเป็นแอปฯที่ได้รับความนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ผ่านกระบวนการการยืนยันตัวตนก่อนเข้าถึงบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆที่กรมสรรพากรได้จัดเตรียมไว้ให้กับผู้เสียภาษี ได้แก่ บริการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผ่านอินเทอร์เน็ต (e-Filing) ระบบตรวจสอบข้อมูลทางภาษี (My Tax Account) ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย (e-Withholding Tax) ระบบตรวจสอบเงินบริจาค (e-Donation) ระบบยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี ผ่านแอปพลิเคชัน (RD Smart TAX) และระบบรับชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Stamp Duty) รวมทั้งบริการ ทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ของกรมสรรพากรที่จะพัฒนาเพิ่มอีกในอนาคต จึงหวังว่าฐานภาษีบุคคลธรรมดา 11 ล้านคน ส่วนผู้ยื่นแบบเสียภาษีขณะนี้ 2.4 ล้านคน น่าจะอำนวยความสะดวกมากขึ้น
การให้บริการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์บนแอปฯ “เป๋าตัง” เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยพัฒนาโดยบริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง เป็นแอปพลิเคชันที่ส่งเสริม ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางดิจิทัลต่าง ๆ รวมถึงเป็นช่องทางการชำระภาษีที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น มีระดับความน่าเชื่อถือของอัตลักษณ์เป็นไปตามกฎหมาย และข้อกำหนดของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงกฎหมายด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือ PDPA อีกทั้งยังเป็นการนำเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้ในการให้ข้อมูลธุรกรรมภาษีอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย