กรุงเทพฯ 7 ก.พ.-ปตท.สผ. เร่งแผนผลิตแหล่งเอราวัณ คาดหนุนปริมาณขายปิโตรเลียมทั้งปี66 แตะ 4.7 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
นายธนัตถ์ ธำรงศักดิ์สุวิทย์ ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผย ในงาน Oppday Year End 2022 ว่า ทิศทางการดำเนินงานของบริษัทในปี 2566 คาดว่าปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ย จะอยู่ที่ 470,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ย (Sales volumes) 468,130 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
เป็นผลมาจากการ ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเร่งลงทุนเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการจี 1/61(แหล่งเอราวัณ) ซึ่งในปีที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้เสร็จสิ้นการติดตั้งแท่นหลุมผลิต (Wellhead platform) จำนวน 8 แท่นเป็นที่เรียบร้อย คาดว่าจะสามารถผลิตก๊าซฯ เพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงกลางปีนี้และเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายปี และในเดือนเมษายน 2567 อัตราการผลิตก๊าซฯ จะขึ้นมาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนไตรมาส1 ปี2566 คาดว่า ปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ย จะอยู่ที่ 472,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
ส่วนราคาก๊าซฯ เฉลี่ยทั้งปี2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.1 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และช่วงไตรมาส1ปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่6.7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ส่วนต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) เฉลี่ยทั้งปี2566 จะลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 27-28 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และ EBITDA Margin คงเดิมที่ระดับ 70-75%
“ปตท.สผ. ยังรอลุ้นผลการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 บริเวณทะเลอ่าวไทย ที่ประกาศให้ยื่น 3 แปลง ประกอบด้วย แปลง G1/65 G2/65 และ G3/65 ซึ่งเป็นแปลงที่มีศักยภาพและอยู่ใกล้กับแท่นผลิตของปตท.สผ. ในปัจจุบัน คาดว่า จะทราบผลการประมูลในเดือน ก.พ. 2566” นายธนัตถ์ กล่าว
นางสาวอรชร อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน ปตท.สผ. กล่าวว่า ปตท.สผ. สำรองเงินลงทุน 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินกว่า 1.66แสนล้านบาท ในแผน 5 ปี (66-70) เพื่อขยายการลงทุนธุรกิจใหม่รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กำนหดเป้าสัดส่วนกำไรจากธุรกิจใหม่ไม่น้อยกว่า 20% ในปี 2573 โดย บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนาธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจไฟฟ้า อย่าง Gas to Power, LNG to Power, Renewable เป็นต้น รวมถึงธุรกิจ CCS ธุรกิจการดักจับคาร์บอนและการใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) ธุรกิจไฮโดรเจนสะอาด รวมทั้งการต่อยอดเทคโนโลยีที่บริษัทกำลังพัฒนาอยู่ไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์งบลงทุนดังกล่าวยังไม่ได้รวมการซื้อกิจการ (M&A) ซึ่งหากมีโอกาสที่ดี หรือมองเห็นว่าสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทฯ PTTEP ก็พร้อมที่จะพิจารณาเข้าลงทุน .-สำนักข่าวไทย