กรุงเทพฯ 2 ก.พ. –ก.ล.ต.ประกาศเกณฑ์คุณสมบัติบริษัทขอเสนอขาย IPO ต้องไม่เกี่ยวข้องธุรกิจผิดกฏหมาย พร้อมโชว์สถิติดำเนินคดีผิดกฏหมายตลาดทุนปี 65 ส่งฟ้องอาญากว่า 200 ราย ค่าปรับ 126.56 ล้านบาท
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชน (IPO) เกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติของบริษัทให้ชัดเจนเรื่องการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้หลักเกณฑ์เป็นไปตามเจตนารมณ์ และบริษัทสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวจากผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2565 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) ปรับปรุงถ้อยคำเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่ขออนุญาตเสนอขายหุ้น IPO ในเรื่องการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ชัดเจน โดยไม่รวมถึงความผิดในเรื่องที่ไม่มีนัยสำคัญ หรือความผิดที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจหลักของบริษัท
ทั้งนี้ การประกอบธุรกิจของบริษัทผู้ขออนุญาตต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง เช่น การค้ามนุษย์ การผลิตหรือจำหน่ายยาเสพติด หรือการฟอกเงิน เป็นต้น และต้องไม่มีการดำเนินงานที่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งอาจเป็นเหตุให้ธุรกิจของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงและมีนัยสำคัญ
(2) ให้อำนาจ ก.ล.ต. ในการกำหนดแนวทาง (guideline) ในรายละเอียดเกี่ยวกับการพิจารณากรณีที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง หรือมีผลกระทบอย่างร้ายแรงและมีนัยสำคัญได้
นอกจากนี้ การปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าว จะบังคับใช้กับทั้งบริษัทไทยและบริษัทต่างประเทศที่เสนอขายแบบ primary listing* และ secondary listing** โดยหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ยังแจ้งสถิติ การทำงาน ปี65 ที่ดูแลตลาดทุน ส่งดำเนินคดีอาญา 209 ราย จำนวน 418 ข้อหา ปรับไปแล้วกว่า 126.56 ล้านบาท จากปี 64 ที่มีเงินค่าปรับเพียง 45.67 ล้านบาท จากการดำเนินคดีอาญา 58 ราย จำนวน131 ข้อหา ขณะที่ในปี 65 มีจำนวนผู้ที่ถูกกล่าวโทษเพิ่มเป็น 31 คดี จากปี 64 ที่มีเพียง 10 คดี และมีผู้ถูกกล่าวโทษเพิ่มขึ้นเป็น 91ราย จากปี 64 ที่ 49 ราย
ส่วนคดีแพ่งยังมีคดีที่มีการตกลงทำบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด เท่ากันในปี 64 และ 65 จำนวน 8 คดี แต่มีจำนวนผู้กระทำผิดสูงขึ้นเป็น 42 ราย จากปี 64 ที่ 37 ราย เงินค่าปรับทางแพ่งลดลงมาที่ 74.04 ล้านบาท เงินชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับ 22.15 ล้านบาท และชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ 1.95 ล้านบาท จากปี 64 เงินค่าปรับทางแพ่ง 178.74 ล้านบาท เงินชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับ 31.81 ล้านบาท และชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ 1.64 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.ก็ยังได้การรับเรื่องร้องเรียนเข้ามามากถึง 1,249 เรื่อง โดยประเภทเรื่องร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวน 326 เรื่อง, การได้รับการชักชวนให้ลงทุนโดยอ้างผลตอบแทนในอัตราที่สูง จำนวน 175 เรื่อง, การปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหาร/กรรมการบริษัทจดทะเบียนจำนวน 70 เรื่อง, ระบบงานของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ จำนวน 43 เรื่อง และระบบงานของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวน 42 เรื่องตามลำดับ และยังมีเรื่องอื่นๆอีก 593 เรื่อง .-สำนักข่าวไทย