นนทบุรี 1 ก.พ.-กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “กล้วยหอมทองพบพระ” เพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น ของดีเลื่องชื่อ จ.ตาก มุ่งสู่ตลาดญี่ปุ่นได้อย่างมั่นใจ ช่วยสร้างมูลค่าและรายได้เพิ่มให้กับชุมชนท้องถิ่น สร้างรายได้ให้ท้องถิ่นกว่า 440 ล้านบาท/ปี
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงมุ่งมั่นเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น ผ่านนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าในแต่ละท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียน GI “กล้วยหอมทองพบพระ” หวังตอกย้ำสินค้าเกษตรคุณภาพของไทย สร้างความภาคภูมิใจและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก กล้วยหอมทองพบพระ เป็นสินค้า GI รายการที่ 3 ของจังหวัดตาก โดยเป็นกล้วยพันธุ์กล้วยหอมทองที่ปลูกในพื้นที่อำเภอพบพระ ด้วยสภาพอากาศร้อนชื้น ฝนตกสม่ำเสมอ ทำให้กล้วยหอมทองพบพระ มีรสชาติหอมหวานเป็นเอกลักษณ์ เนื้อสัมผัสแน่น เหนียวหนึบ ผลโค้งคล้ายรูปตัวแอล ปลายผลมีจุกคล้ายดินสอ เปลือกบาง และผลสุก สีเหลืองทองสม่ำเสมอกัน ซึ่งกล้วยหอมทองพบพระ 1 เครือ มีน้ำหนักถึง 14 กิโลกรัม ปัจจุบันกล้วยหอมทองพบพระเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและมีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไป อาทิ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และวิลล่า มาร์เก็ต และยังเป็นซอฟต์พาวเวอร์เผยแพร่อัตลักษณ์ไทยสู่นานาชาติ
อย่างไรก็ตาม มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น มีมูลค่าส่งออกถึง 27 ล้านบาท/ปี และสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนรวมกว่า 440 ล้านบาท/ปี ซึ่งในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค (APEC 2022) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา กรมฯ ได้ผลักดันกล้วยหอมทองพบพระ ให้เป็นหนึ่งในสินค้า GI ที่ร่วมแสดงอัตลักษณ์ความเป็นไทยในโอกาสพิเศษนี้ด้วย โดยวิสาหกิจชุมชนหรือชุมชนท้องถิ่นที่มีสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่มีคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ และเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีชื่อเสียง สามารถขอคำปรึกษาเพื่อยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI ได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 1368.-สำนักข่าวไทย