กรุงเทพฯ 15 ม.ค. – ยอดใช้น้ำม้นพุ่ง ค่อนข้างตึงตัว หลังนักท่องเที่ยวเข้าไทยต่อเนื่อง ไทยออยล์ ประกาศผลิตเต็ม MAX ยืนยันบริการจัดการน้ำมันไม่ขาดแคลน น้ำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปต่อเนื่อง
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ในปี 2566 โรงกลั่นไทยออยล์จะเดินเครื่องกลั่นเต็มกำลัง เมื่อเทียบกับปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 103% ของกำลังการกลั่น 275,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ความต้องการน้ำมันโดยรวมขยับขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม ดีเซลและน้ำมันอากาศยาน(JET) ภาพรวมแล้วปีนี้ คาดว่าความต้องการน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 4-7% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 เนื่องจากการคาดการณ์เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามที่สภาพัฒน์คาดการณ์ไว้ รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณการเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเติบโตมากขึ้น
สำหรับกรณี ดีเซลตึงตัวนั้น นาย บัณฑิต ยืนยันว่าโรงกลั่นฯมีซัพพลายด์ดีเซลออกมาแน่นอน รวมทั้งทุกโรงกลั่นร่วมกับกรมธุรกิจพลังงาน วางแผนในการกลั่น และประเมินความต้องการใช้ โดย มีการนำเข้าน้ำมันดีเซลมาจำหน่าย ด้วย โดยขอยืนยันว่าประชาชนไม่ต้องกังวลว่าน้ำมันดีเซลจะขาดแคลน ในขณะเดียวกัน โรงกลั่นฯ ก็มีการกลั่นน้ำมันอากาศยานเพิ่มขึ้นด้วย
“ไทยออยล์มีแผนจะเดินเครื่องMAX เท่าระดับเฉลี่ยก่อนช่วงโควิด เนื่องจากไม่มีแผนการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ และค่าการกลั่นที่อยู่ในระดับที่ดี ปริมาณความต้องการน้ำมัน JET ก็คาดว่าจะปรับสูงขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 50-60% เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยโรงกลั่นไทยออยล์สามารถปรับกระบวนการผลิตให้ผลิตน้ำมัน Jet ในสัดส่วนที่มากขึ้นได้ หากตลาดมีความต้องการเพิ่มขึ้น และมีความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์” นายบัณฑิตกล่าว
ทั้งนี้ สัดส่วนผลิตช่วงโควิด ทั่วโลกปิดประเทศ การเดินทางด้วยเครื่องบินลดลง ช่วงนั้น ไทยออยล์ได้ปรับ ลดการผลิต Jet และได้เพิ่มกำลังผลิตผลิต JET มากขึ้นในช่วงเริ่มประเทศปีที่แล้ว โดยปีนี้จะ เพิ่มจากช่วงโควิดประมาณ 7% ( โดยปี 2565 ผลิต Jet ประมาณ 14% -ของกำลังกลั่น) และต้องปรับสัดส่วนกำลังผลิตให้เหมาะสม โดยปีนี้แผนงานจะ ปรับลดการผลิต Gasoil(ดีเซล) ประมาณ 4% ส่วน Mogas(เบนซิน) /TPX/TLB ปรับลดการผลิตรวมประมาณ 3% (เทียบกับช่วงโควิด เมื่อปี 2563 )
สำหรับปี 2566 นายบัณฑิตมองแนวโน้มค่าการกลั่น(GRM) ในภูมิภาคจะลดลง เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยมาร์จิ้นลงมาอยู่ที่ระดับ 4-5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ก็นับว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยปัจจัยบวกมาจาก สถานการณ์โควิดที่คลี่คลาย และจีนเปิดประเทศ ทั้งนี้ มองว่าในช่วงไตรมาส 1/2566 ตลาดน้ำมันในภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบจากการที่จีนเพิ่มปริมาณส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เพราะเศรษฐกิจในจีนได้รับผลกระทบจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในช่วงที่ผ่านมา แต่หลังจากยกเลิกนโยบายนี้เปิดประเทศ 8 ม.ค.2566 ก็คาดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ตามตัวเลขเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ดังนั้น การส่งออกน้ำมันของจีนก็จะลดลงในไตรมาส2/2566 และส่งผลต่อปริมาณน้ำมันในภูมิภาคและค่าการกลั่น ซึ่งก็จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สำนักงานศุลกากรจีน (GAC) รายงานเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ว่า การนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในเดือนธ.ค. 11.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน( 48.07 ล้านตัน) เพิ่มขึ้น 4.2% และยอดนำเข้าน้ำมันดิบตลอดปี 2565 ของจีนอยู่ที่ 508.28 ล้านตัน ลดลง 0.9% จากปี 2564 และเป็นการปรับตัวลง 2 ปีติดกัน เนื่องจากมาตรการคุมโควิด-19 ในขณะที่ การส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงน้ำมันเบนซิน ดีเซล น้ำมันสำหรับอากาศยาน และน้ำมันสำหรับเรือ อยู่ที่ราว 7.7 ล้านตัน สูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2563 และเพิ่มขึ้นจาก 6.14 ล้านตันในเดือนพ.ย. -สำนักข่าวไทย