ทำเนียบฯ 29 พ.ย. – ครม. รับทราบแผนฟื้นฟู “การบินไทย” กลับมาทำการบินเส้นทางเดิม สภาพคล่องดีขึ้น หวังเพิ่มทุน 31,500 ล้านหุ้น กลับเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทย
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา “การบินไทย” มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง สามารถเพิ่มความถี่เที่ยวบินใน 6 เดือนแรกของปี 65 และกลับมาให้บริการเส้นทางเดิม โดยในไตรมาส 3/65 การบินไทย และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 3,920 ล้านบาท เทียบกับเคยขาดทุน 5,310 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปี 64 มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBIDA) 6,181 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 64 ที่เคยขาดทุน 3,100 ล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในเดือน ต.ค. 65 การบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ มีผู้โดยสารต่างประเทศเฉลี่ยต่อวัน 21,558 คน คิดเป็นร้อยละ 30 ของผู้โดยสารต่างประเทศผ่านเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีส่วนแบ่งการขนส่งสินค้าคิดเป็นร้อยละ 28 ของปริมาณการขนส่งสินค้าเข้า-ออก ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนในเดือนพ.ย.-ธ.ค. มีการสำรองที่นั่งล่วงหน้าระดับสูงต่อเนื่อง ณ วันที่ 15 พ.ย. 65 บริษัทมีเงินสดคงเหลือ 32,031 ล้านบาท
เมื่อสถานการณ์ดำเนินงานดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้สินเชื่อใหม่ของการบินไทย ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการได้ปรับลดจาก 50,000 ล้านบาท เหลือ 25,000 ล้านบาท แยกเป็นความต้องการสินเชื่อระยะยาวและสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นประเภทละ 12,500 ล้านบาท การบินไทยยังได้ปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบินและปรับลดต้นทุนอากาศยานอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีฝูงบินประจำการ 61 ลำ เมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัว จึงนำฝูงบินกลับมาให้บริการใหม่รวม 5 ลำ ได้แก่ โบอิ้ง 777-200ER จำนวน 2 ลำ และแอร์บัส 330-300 จำนวน 3 ลำ
นอกจากนี้บริษัทยังได้ลงนามในสัญญาเช่าอากาศยานแบบแอร์บัส 350-900 แล้วจำนวน 2 ลำ และได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงในการเช่าอากาศยานแบบแอร์บัส 350-900 อีก 2 ลำ อยู่ระหว่างการขออนุญาตเข้าประจำการในฝูงบินต่อสำนักงานการบินพลเรือนและกระทรวงคมนาคม โดยคาดว่าอากาศยานทั้ง 4 ลำ จะเริ่มเข้าให้บริการได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/66 ซึ่งจะทำให้ในปี 66 บริษัทจะมีอากาศยานที่นำมาบริการรวม 70 ลำ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การบินไทยมีแผนงานปรับโครงสร้างทุนด้วยการเพิ่มทุนจดทะเบียนไม่เกิน 31,500 ล้านหุ้น เพื่อให้ส่วนทุนเป็นบวก สร้างความมั่นคงทางการเงิน และให้หุ้นของบริษัทสามารถกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยแบ่งเป็นการออกหุ้นเสนอขายแก่กลุ่มต่างๆ 5 กลุ่ม ได้แก่
1.หุ้นจำนวน 4,911 หุ้น สำหรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Share Option) ของผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่ เฉพาะผู้ให้สินเชื่อระยะยาว ในจำนวนเดียวกับจำนวนหนี้ที่เบิกใช้จริง หรือการเลือกชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยแปลงหนี้เงินต้นเดิมตามแผนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
2.หุ้นจำนวน 5,040 ล้านหุ้น สำหรับการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อชำระหนี้เงินต้นคงค้างของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 (กระทรวงการคลัง) ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของภาระหนี้เงินต้นคงค้าง (ประมาณ 12,827 ล้านบาท) ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
3.หุ้นจำนวน 9,822 ล้านหุ้น สำหรับการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้เงินต้นคงค้างแก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการได้รับเงินจากการขายเครื่องบิน) เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินไม่มีประกัน) และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้) ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของภาระหนี้เงินต้นคงค้าง
4.หุ้นจำนวน 1,904 ล้านหุ้น สำหรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4-6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
5.หุ้นจำนวน 9,822 ล้านหุ้น สำหรับการจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิม โดยไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ (Preferential Public Offering) ที่ราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยในกรณีที่ผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิไม่เต็มจำนวนจะนำหุ้นไปเสนอขายแก่พนักงานบริษัท การบินไทยฯ และเสนอขายแก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า แผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทยได้ขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ให้พิจารณาใช้สิทธิการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามสัดส่วน ที่บริษัทเตรียมออกเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมเพื่อให้บริษัทมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดในการกลับมาซื้อขายหุ้นในตลาดได้ตามปกติ ซึ่งผลจากการใช้สิทธิในการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าว ส่งผลให้กระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นประมาณร้อยละ 32.7 และหากรวมการถือหุ้นของธนาคารของรัฐอื่นๆ อีกร้อย 10.4 จะทำให้เป็นไปตามแผนการฟื้นฟูกิจการที่ต้องการให้ภาครัฐถือหุ้นในการบินไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน.-สำนักข่าวไทย