ทำเนียบฯ 9 พ.ย.-โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาลเชื่อมั่นความร่วมมือจากการประชุมเอเปคในสัปดาห์หน้า จะช่วยให้ภาคเอกชน และ MSMEs ได้รับประโยชน์และฟื้นตัวเร็วขึ้น
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เชื่อมั่นถึงประโยชน์จากการประชุมเอเปคจะส่งผลสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคเอกชนภายหลังประสบกับความท้าทายสำคัญ ซึ่งไทยพร้อมหารือเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเขตเศรษฐกิจ และภาคเอกชนที่จะมาร่วมการประชุม ในสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เนื่องจากวิกฤตการณ์จากโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้การดำเนินธุรกิจในหลายๆ ภาคส่วนต้องหยุดชะงัก และซบเซาลงไปส่งผลให้ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็กซึ่งปรับตัวได้ยากกว่าเกิดจากข้อจำกัดของทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงของตลาด และการขาดสมดุลทางการเงิน ดังนั้น เมื่อรัฐบาลหลายๆประเทศผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ที่เกิดจากโควิด–19 มีการจัดการเพื่อต่อสู้กับความท้าทายได้ดีขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่รัฐบาลได้หาแนวทาง กำหนดนโยบาย เพื่อสร้างโอกาสในการฟื้นฟูธุรกิจ MSMEs ซึ่งจากตัวเลขแล้ว สัดส่วนธุรกิจ MSMEs ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่มีมากถึง 98% และมีมูลค่า GDP ถึงกว่า 40-60%
ในการประชุมเอเปคครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ภาคธุรกิจจะพูดคุยถึงข้อเสนอ และแนวทางในการสนับสนุนธุรกิจ ให้สอดรับกับนโยบายในระดับสากล และเพื่อร่วมรับมือในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมกำหนดท่าทีของไทยที่จะรักษาผลประโยชน์ของธุรกิจ MSMEs ในเวทีความร่วมมือพหุภาคี พร้อมกับเชื่อมโยง MSMEs ไทยกับพันธมิตรธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมศักยภาพของ MSMEs ไทย ซึ่งเขตเศรษฐกิจเอเปคจะได้หารือถึงแนวทางใหม่ ๆ พร้อมทั้งฟื้นฟูและปรับปรุงการเชื่อมต่อระหว่างเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปคทั้งหมด 4 ด้าน ประกอบด้วย
- การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว
- การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กพัฒนาได้เร็วขึ้น การมีทักษะดิจิทัลจะทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากกว่า
- การจัดหาเงินทุนและการปรับโครงสร้างหนี้
- การรับมือกับตลาดที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป การสร้างสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่สนับสนุนสตาร์ทอัพ ส่งเสริมนวัตกรรม เสรมสร้างการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก
นอกจากนี้ ในการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ยังมีอีก 2 ไฮไลท์ที่จะเป็นเวทีหารือ สร้างเครือข่ายส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะระหว่างผู้นำกับภาคธุรกิจ ได้แก่
- การประชุม APEC CEO Summit Thailand 2022 ซึ่งจะเป็นการพูดคุยประเด็นด้านธุรกิจ กับผู้นำแต่ละเขตเศรษฐกิจในกลุ่มเอเปค และ CEO ของบริษัทต่าง ๆ เพื่อสร้างเครือข่าย และลดความท้าทายของภูมิภาค และด้วยภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายอื่นๆ
- สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council (ABAC)) ซึ่งจะเป็นเวทีให้ได้เสนอแผนของการดำเนินธุรกิจ เพื่อการฟื้นตัวในช่วงหลังโควิด
“การประชุมเอเปคครั้งนี้ รัฐบาลคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นโอกาสให้พูดคุย และดำเนินนโยบายได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจต่าง ๆ ในไทยให้ฟื้นตัวจากโควิดได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล การประชุมที่ประเทศไทยในครั้งนี้ จึงเป็นการพบปะกันที่สำคัญในรอบ 3 ปี ของเหล่าเขตเศรษฐกิจ ที่ประเทศไทยจะสามารถแสดงศักยภาพของผู้จัดการประชุม และเป็นเวทีเพื่อสร้างโอกาสการเจริญเติบโตให้กับเขตเศรษฐกิจและภาคเอกชนได้อย่างเต็มที่” นายอนุชาฯ กล่าว.-สำนักข่าวไทย