กรุงเทพฯ 8 พ.ย.- รมว. วราวุธเตรียมนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุม COP 27 ที่ประเทศอียิปต์ โดยจะนำเสนอแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอน ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ในที่ประชุม COP 26 ปีที่ผ่านมา รวมถึงความก้าวหน้าในการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตภายใต้ข้อตกลง Paris Agreement ที่ไทยและสวิตเซอร์แลนด์เป็นคู่แรกที่สามารถทำได้ พร้อมเรียกร้องให้นานาอารยประเทศเร่งดำเนินการเรื่องนี้
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้นำคณะผู้แทนไทยไปร่วมประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 -18 พ.ย. 2565 ณ เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณัฐอาหรับอียิปต์ โดยจะเดินทางไปในวันที่ 10 พ.ย. นี้
สำหรับวาระสำคัญของการประชุม COP27 จะมีการติดตามความคืบหน้าการวางแผนดำเนินการตามคำมั่นสัญญาในประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ โดยภายในสิ้นปี 2022 ประเทศต่างๆ ต้องตีพิมพ์แผนการดำเนินการตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมถึงการดำเนินการตามเป้าหมายประชาคมโลกไม่ให้ อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียสในปี ค.ศ. 2100
สำหรับกรอบท่าทีเจรจาในการประชุม COP27 นั้น ไทยจะสนับสนุนการเจรจาเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาคมโลก พร้อมคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับอย่างยั่งยืน พร้อมยืนยันว่า การเจรจาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม และหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง คำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละภาคี โดยประเทศพัฒนาแล้วจะต้องมีบทบาทผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมทุกภาคเศรษฐกิจ
นายวราวุธกล่าวว่า สิ่งที่จะรายงานต่อประชุม COP27 ได้แก่ แผนลดการปลดปล่อยคาร์บอนระยะยาวถึงปี 2065 ที่ไทยจะลดคาร์บอนจาก 388 ล้านตัน เหลือ 120 ล้านตัน พร้อมนำเสนอแผนระยะสั้นว่า ภายในปี 2030 ไทยตั้งเป้าหมายที่จะลดคาร์บอนลงไป 40 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้จะนำเสนอความสำเร็จของประเทศไทยที่สามารถดำเนินการภายใต้ข้อตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Paris Agreement ที่ตกลงกันไว้ ซึ่งไทยกับสมาพันธรัฐสวิสลงนามความร่วมมือภายใต้ความตกลงปารีส ข้อ 6.2 เพื่อจัดทำกรอบความร่วมมือโดยสมัครใจสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ โดยสมาพันธรัฐสวิสจะสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า หรือ “อีบัส” ในกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในปี 2065 ที่พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแสดงเจตนารมณ์ในที่ประชุม COP26
ปัจจุบันการลงนามข้อตกลงถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างไทยกับสมาพันธรัฐสวิสเป็นคู่แรกและยังเป็นเพียงคู่เดียวของโลกที่สามารถทำได้ เป็นการยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ได้ดีแต่พูด แต่ทำได้จริงจนประสบความสำเร็จซึ่งจะเรียกร้องให้นานาชาติดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย.-สำนักข่าวไทย