กรุงเทพฯ 11 ต.ค. – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) เดือน ก.ย.65 ทรงตัว แต่หวั่นน้ำท่วมเข้ามาเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อภาวะรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ในเดือน ก.ย.65 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ปัจจุบัน และ 3 เดือนข้างหน้า ทรงตัวอยู่ที่ 33.9 และ 35.2 โดยสถานการณ์ราคาพลังงานที่เริ่มทรงตัว ส่งผลให้ครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อระดับราคาสินค้าในหลายหมวด ยกเว้นในส่วนของอาหารและเครื่องดื่มที่ครัวเรือนกลับมามีความกังวลเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่และสร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรต่าง ๆ ยังส่งผลให้ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์รายได้และการจ้างงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น หลังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทั้งนี้ จากการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม พบว่า ครัวเรือนร้อยละ 19.2 มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 5,000 บาท (ผลสำรวจจัดทำขึ้นในช่วง 21-27 ก.ย.65)
ในระยะข้างหน้า การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ทั้งสถานการณ์ราคาสินค้าที่แม้จะเริ่มเห็นการชะลอการปรับเพิ่มขึ้นของราคา แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะระดับราคาพลังงาน นอกจากนี้ยังคงต้องติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศที่ปัจจุบันเริ่มเห็นถึงความเสียหายในส่วนของผลผลิตทางการเกษตร และชีวิตความเป็นอยู่ของครัวเรือน รวมถึงกดดันกำลังซื้อของครัวเรือน
ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งโครงการคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ต.ค.65 อย่างไรก็ดี มาตรการการเดินทางข้ามประเทศในต่างประเทศที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะเข้ามาหนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้และการจ้างงาน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่อาจจะออกมาในช่วงครึ่งหลังของปี เช่น มาตรการลดหย่อนทางภาษี เป็นต้น
สถานการณ์น้ำท่วม พบว่า ครัวเรือนที่มีค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นน้อยกว่า 1,000 บาท อยู่ที่ 34.3% ขณะที่มีค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมากกว่า 5,001 บาทขึ้นไป มีสัดส่วนอยู่ที่ 19.2%
อย่างไรก็ดี จากการประเมินจากผลสำรวจดังกล่าว คาดว่าค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบเฉพาะหน้าของสถานการณ์น้ำท่วมต่อภาคครัวเรือนเบื้องต้นอยู่ที่ 2.3 พันล้านบาท (ไม่รวมภาคอุตสาหกรรม) ซึ่งเป็นการคำนวณจากข้อมูลที่สำรวจในช่วงปลายเดือน ก.ย.65 ยังไม่ได้รวมผลกระทบที่จะเกิดเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ฝนที่ยังตกหนักในช่วงเดือน ต.ค.65
ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมหนักยังเกิดขึ้นต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ดังนั้น ผลกระทบและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าที่ได้สำรวจในช่วงปลายเดือน ก.ย.65 ในระยะข้างหน้าการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนมีความท้าทายเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์น้ำท่วม ทั้งในส่วนของรายได้ทั้งภาคเกษตร/พื้นที่ทำกิน (ค้าขายสินค้า) เป็นต้น
นอกจากนี้ ในส่วนของค่าใช้จ่ายยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น การซ่อมแซมบ้านเรือน การเดินทางไปทำงานที่ยากลำบากขึ้น เป็นต้น ส่งผลให้กำลังซื้อของครัวเรือนยังมีแนวโน้มเปราะบางต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์น้ำท่วม รวมถึงมาตรการต่างๆ จากภาครัฐที่จะมาบรรเทาความเสียหาย (ล่าสุดจะเป็นในส่วนของธนาคารภาครัฐที่มีการลดดอกเบี้ย พักหนี้ หรือให้วงเงินกู้ฉุกเฉิน). – สำนักข่าวไทย