ทำเนียบฯ 23 ก.ย.-รัฐบาลชู Thailand Digital Valley ศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิทัล EECd ศูนย์บ่มเพาะ Start up และเทคโนโลยี เชื่อมั่นดึงดูดสตาร์ทอัพดิจิทัลชั้นนำ และนักลงทุนจากในประเทศและทั่วโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อสร้างทั้งมูลค่าและโอกาสให้กับประเทศไทย โดยหนึ่งในองค์กรที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายด้านดิจิทัล คือ Depa Thailand หรือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้นำโครงการหนึ่งที่สำคัญในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC คือ Thailand Digital Valley ไปจัดแสดงนวัตกรรมของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA กระทรวงดิจิทัลเพื่อและสังคม ภายในงาน Building Construction Technology Expo ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 21-23 กันยายน 2565 ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุน ผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพชั้นนำเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้มีนโยบายชัดเจนเรื่อง Thailand Digital Valley ให้เป็นศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ในประเทศ เพื่อดึงดูด Tech Startup และบริษัทชั้นนำจากทั่วโลก มาใช้สาธารณูปโภคร่วมกันในพื้นที่ EECd แห่งนี้เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งตั้งอยู่บริเวณศูนย์โทรคมนาคม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ในขอบเขตเดียวกับ GISTDA ซึ่งเป็น Gateway internet ด้วยสาย Fiber Obtic ของ CAT จึงเป็นพื้นที่ที่ได้เปรียบ ในการพัฒนาสู่ศูนย์กลางของธุรกิจดิจิทัลในระดับภูมิภาค ซึ่งในปัจจุบันก็มีบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงมาเช่าพื้นที่เพื่อทำศูนย์วิจัยด้านดิจิทัลแล้ว
อย่างไรก็ตาม โครงการ Thailand Digital Valley ตั้งอยู่บนพื้นที่ 30 ไร่ แบ่งเป็น 5 อาคาร ได้แก่ 1. อาคาร DEPA Digital One Stop Service ได้ดำเนินการสร้างเสร็จแล้ว มีพื้นที่ให้เช่า พร้อมกับมีพื้นที่ Co-Working space ให้ใช้งานได้ 2. อาคาร Digital Startup Knowledge Exchange Centre 3. อาคาร Digital Innovation Centre หรืออาคารนวัตกรรม IoT 2 4. อาคาร Digital Edutainment Complex อาคารนวัตกรรม IoT 3 5. อาคาร Digital Go Global Centre อาคารนวัตกรรม IoT 4
น.ส.ทิพานัน กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวนอกจากจะมีการอำนวยความสะดวกด้านเครื่องมือ และห้อง Lab ในการทดลองต่างๆแล้ว สิ่งที่จะจูงใจนักลงทุน คือการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ของบริษัทที่เข้ามาประกอบกิจการในพื้นที่ได้แก่ลดภาษีเงินได้ของบริษัทที่อยู่ใน EECd ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ทำงานภายในบริษัทต่ำกว่า 17% ได้รับSMART VISA หรือวีซ่าประเภทพิเศษ ที่กำหนดขึ้นมาเพื่อดึงดูดบุคลากร ทักษะสูงและนักลงทุนที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานหรือลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนกฏระเบียบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องและสนับสนุนกับธุรกิจดิจิทัล
“โครงการมีกำหนดเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดภายในปี 2567 เชื่อว่าถ้าเสร็จสมบูรณ์แล้วจะสามารถดึงดูดบริษัทสตาร์ทอัพดิจิทัลชั้นนำ เอกชนต่างๆ และนักลงทุนชั้นนำระดับประเทศและทั่วโลกได้ เพื่อต่อยอดพัฒนาพื้นที่ EEC และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”น.ส.ทิพานัน กล่าว.-สำนักข่าวไทย