15 ก.ย. – ช่วง “ชักหน้าให้ถึงหลัง” วันนี้พาไปดูปัญหาหนี้นี้เอสเอ็มอี และหนี้ธุรกิจต่างๆ มีตัวอย่างของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ขอสินเชื่อธนาคารทำธุรกิจอสังหาฯ แต่ต้องเจอวิกฤติทั้งจากปัญหาครอบครัว และปัญหาโควิด จ่ายหนี้ไม่ไหว เป็นหนี้ NPL แต่ทุกปัญหามีทางออกเสมอหากเราไม่หมดหวัง
โครงการหมู่บ้านจัดสรรเนื้อที่ 27 ไร่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยื่นขอสินเชื่อจากธนาคารวงเงิน 90 ล้านบาท แต่เมื่อโครงการเดินหน้าไปได้ 20% ธุรกิจสะดุด เมื่อคนในครอบครัวมีปัญหาสุขภาพ ปรับโครงสร้างหนี้ไป 2 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ไหว ยอดหนี้ขณะนั้น 80 ล้านบาท กลายเป็นหนี้เสีย NPL
ปี 62 ธนาคารขายหนี้ NPL ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท หรือ บสส. หรือ SAM เธอและเจ้าหน้าที่ของ SAM พูดคุยหาทางออกร่วมกัน ปรับโครงสร้างหนี้ เหลือยอดหนี้ 44 ล้านบาท กำหนดแผนชำระหนี้ 6 ปี เธอเดินหน้าทำธุรกิจอีกครั้ง แต่ ปี 63 ต้องเจอสถานการณ์โควิด ธุรกิจสะดุดแรงอีกรอบ เธอ และ SAM ช่วยกันจนฝ่าวิกฤติมาได้ ฟ้าหลังฝนสดใสอีกครั้ง วันนี้เธอยิ้มได้ โครงการบ้านจัดสรรขายได้มากกว่า 80% แล้ว
ผู้บริหาร SAM ให้ข้อมูลว่าท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากทั้งภาะวะเงินเฟ้อ และต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี SAM ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่พร้อมดูแลลูกหนี้ NPL ทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และสร้างทางออกให้เหมาะกับประเภทธุรกิจ
ปัจจุบันมีลูกหนี้ NPL อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ SAM มูลหนี้รวมกว่า 350,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเป็นผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่กว่า 225,000 ล้านบาท เอสเอ็มอีกว่า 110,000 ล้านบาท และรายย่อยกว่า 18,000 ล้านบาท
SAM ยังมี “คลินิกแก้หนี้” เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อยที่มีหนี้สินค้างชำระกับธนาคารพาณิชย์ อาทิ หนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันให้ได้ข้อยุติในคราวเดียว ทำให้ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการชำระหนี้ของตนเองได้อย่างเหมาะสม ตามความสามารถที่แท้จริง. – สำนักข่าวไทย