ล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ
กทม.28 ส.ค.-สมาคมโรคไตฯ ชี้ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง 5-10% เริ่มมีอาการเยื่อบุช่องท้องเสื่อมแล้ว จำเป็นต้องใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ เตรียมวิจัยประสิทธิภาพและความคุ้มค่าเสนอ สปสช.เพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์ในปีหน้า นพ.สุชาย ศรีทิพยวรรณ เลขาธิการสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต โรงพยาบาลศิริราช เปิดเผยว่าขณะนี้ทางสมาคมโรคไตฯ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในการศึกษาวิจัยการล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติในกลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เพื่อนำเสนอสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ต่อไป นพ.สุชาย กล่าวว่า การล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติก็คือการล้างไตทางช่องท้องชนิดหนึ่ง แต่ใช้เครื่องในการเปลี่ยนถ่ายรอบน้ำยา ทำให้เปลี่ยนถ่ายน้ำยาได้หลายรอบต่อวัน ส่งผลเปลี่ยนถ่ายของเสียออกมาได้จำนวนมาก ขณะที่การล้างไตทางช่องท้องทั่วๆ ไป ผู้ป่วยเป็นผู้เปลี่ยนถ่ายน้ำยาด้วยตัวเองซึ่งทำได้อย่างมากไม่เกิน 5 รอบ/วัน นพ.สุชาย กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติว่า ผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องมาเป็นเวลานานๆ เยื่อบุช่องท้องจะเริ่มเสื่อมสภาพ ทำให้ต้องใช้ปริมาณน้ำยาล้างไตมากขึ้น การล้างไตด้วยมือก็จะไม่เพียงพอ ที่ผ่านมา สปสช.ให้สิทธิประโยชน์ล้างไตทางช่องท้องแก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมา 13 ปี คนไข้ที่ทำมาเป็นเวลานานๆ ขณะนี้เยื่อบุช่องท้องเริ่มเสื่อมสภาพ มีภาวะสารน้ำและเกลือ มีของเสียคั่งในร่างกาย และต้องใช้น้ำยาล้างไตในปริมาณมากๆ การใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติจะทำให้เพิ่มปริมาณน้ำยาล้างไตได้มากขึ้น ล้างเอาน้ำและเกลือส่วนเกินได้สะอาดขึ้น ข้อดีอีกอย่างคือสามารถทำในขณะที่ผู้ป่วยนอนในเวลากลางคืนได้ จึงสะดวกกับผู้ป่วยที่ต้องไปทำงานในเวลากลางวัน หรือเด็กนักเรียน พอกลางคืนก็นอนพักแล้วให้เครื่องล้างไตทำงานไป “ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้ป่วยเด็กเพราะเขาต้องไปเรียนหนังสือ ต้องมีกิจกรรมในเวลากลางวัน […]