กรุงเทพฯ 10 ส.ค. – กรมชลประทานทยอยปรับการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในจังหวัดลพบุรีแล้ว เพื่อควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ขณะที่น้ำเหนือไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นทำให้ต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาซึ่งจะมีผลให้ระดับน้ำพื้นที่ท้ายเขื่อนสูงขึ้น
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ได้ทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรีตั้งแต่เมื่อวานนี้ (9 ส.ค.) เวลา 12.00 น. จากอัตรา 80.72 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีอัตรา 120.49 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเพื่อควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำของเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
ทั้งนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ สำนักงานชลประทานที่ 10 รายงานว่า อ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีความจุระดับเก็บกักสูงสุด 960 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำในอ่างเก็บน้ำ 409.10 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 42.61% ของความจุ ตั้งแต่วันที่ 1-10 ส.ค. มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำรวม 487.14 ล้านลูกบาศก์เมตรและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกระหว่างวันที่ 11-13 ส.ค. จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนมู่หลาน ประกอบกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศเฝ้าระวังปริมาณน้ำท่าไหลลงแม่น้ำป่าสักเพิ่มมากขึ้นเพราะฝนที่ตกลงมาก่อนหน้านี้
สำหรับการปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำจาก 80.72 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเป็น 120.49 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีจะทำให้อัตราการระบายต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 6.97 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็น 10.41 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปริมาณน้ำไหลลงอ่างอยู่ที่ 127.49 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีหรือ 11 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาเช้าวันนี้ไหลผ่านสถานี C.2 จังหวัดนครสวรรค์ 969 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 818 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีทำให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 886 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 749 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที การปรับระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้นและกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิดและท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนที่อยู่ในคันกั้นน้ำ
ทั้งนี้กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพและขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด.-สำนักข่าวไทย