กรุงเทพฯ 7 ส.ค. – อธิบดีกรมชลประทานระบุ จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มอีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนที่จะตกหนักถึงหนักมากระหว่างวันที่ 7-9 ส.ค. ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ย้ำทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันไดตามความเหมาะสม โดยแจ้งเตือน 11 จังหวัดท้ายน้ำให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่อาจสูงขึ้น 20-80 เซนติเมตรล่วงหน้าแล้ว
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในประเทศไทยระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม ทั้งนี้ปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นบริเวณภาคเหนือและภาคกลางจะทำให้เกิดน้ำท่าไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยามากขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำให้สอดคล้องกับการคาดการณ์ดังกล่าว โดยกรมชลประทานปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่เย็นวานนี้ (6 ส.ค. 65 เวลา 18.00 น.) จากอัตรา 699 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) /วินาทีเป็น 710 ลบ.ม./วินาที จากนั้นในวันนี้ (7 ส.ค. 65 เวลา 06.00 น.) ปรับจาก 710 ลบ.ม./วินาทีเป็น 800 ลบ.ม./วินาที
จากการปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำทยอยเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 20 – 80 เซนติเมตรบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)
นายประพิศกล่าวว่า กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพ หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,100 ลบ.ม./วินาทีจะแจ้งให้ทราบต่อไป ย้ำว่า การปรับเพิ่มการระบายน้ำจะทยอยปรับแบบขั้นบันไดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ฝนและน้ำเหนือ
ก่อนหน้านี้กรมชลประทานได้แจ้งเตือน 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประกาศประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถแจ้งไปยังสำนักงานชลประทานในพื้นที่หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทาน.-สำนักข่าวไทย