นครศรีธรรมราช 9 เม.ย.- รัฐมนตรีเกษตรฯ สั่งกรมชลประทานจัดทำแผนพัฒนาคลองท่าดีซึ่งเป็นคลองที่รับน้ำจากเทือกเขาหลวง โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบรรเทาอุทกภัย จ.นครศรีธรรมราช อธิบดีกรมชลประทานระบุ ได้ก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำกัดเซาะแนวตลิ่งจนพังเสียหาย พร้อมเตรียมพัฒนาคลองท่าดีตลอดสายให้สามารถรับน้ำและระบายน้ำได้มากกว่าเดิม
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้ติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่งคลองท่าดีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบรรเทาอุทกภัย จ. นครศรีธรรมราช ทั้งนี้คลองท่าดีซึ่งเป็นคลองธรรมชาติที่ประกาศเป็นทางน้ำชลประทาน ยาว 38.323 กิโลเมตร มีแหล่งต้นน้ำจากเทือกเขาหลวงตัดผ่านพื้นที่การเกษตรหลายพื้นที่ โดยในฤดูน้ำหลากมีน้ำปริมาณมากไหลลงก่อให้เกิดปัญหาการกัดเซาะตลิ่งทั้งสองฝั่ง ส่งผลให้น้ำไหลเข้าสู่พื้นที่การเกษตรและที่พักอาศัยในพื้นที่ หมู่ที่ 3 ต. ท่าดี อ. ลานสกาจนได้รับความเดือดร้อน
ต่อมากรมชลประทานได้จัดทำโครงการอาคารป้องกันตลิ่งบ้านดินดอนเพื่อช่วยเหลือราษฎรและบรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำกัดเซาะแนวตลิ่งจนพังเสียหาย พร้อมกันนี้ย้ำให้กรมชลประทานจัดทำโครงการพัฒนาคลองท่าดีตลอดสายให้สามารถรับน้ำและระบายน้ำได้มากกว่าเดิมด้วย โดยจะต้องมีการวางแผนและบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า กรมชลประทานตรวจสอบสภาพภูมิประเทศในพื้นที่ พร้อมทั้งศึกษาและตรวจสอบผลการคำนวณทางด้านวิศวกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่งคลองท่าดีซึ่งเป็นอาคารป้องกันตลิ่งชนิดลวดตาข่ายบรรจุหิน ความยาว รวม 697 เมตร(ฝั่งซ้ายยาว 234 เมตร/ฝั่งขวายาว 463 เมตร) พร้อมก่อสร้างฝายคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 1.50 เมตร ยาว 44 เมตร อีกโครงการเป็นโครงการก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่งบ้านดินดอน ตำบลท่าดี อำเภอลานสกา มีลักษณะเป็นอาคารป้องกันตลิ่งชนิดลวดตาข่ายบรรจุหิน ความยาว รวม 600 เมตร(ฝั่งซ้ายยาว 260 เมตร/ฝั่งขวายาว 340 เมตร สูง 4.50 เมตร) หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยแก้ไขปัญหาการพังทลายจากกระแสน้ำกัดเซาะบริเวณแนวตลิ่งคลองท่าดี ในช่วงฤดูน้ำหลากได้เป็นอย่างมาก
พร้อมกันนี้ ได้วางแผนระยะยาวในการปรับปรุงสภาพคลองท่าดีทั้งระบบ เพื่อชะลอการไหลของน้ำ ช่วยลดความรุนแรงของกระแสน้ำ ลดการชะล้างพังทลายของตลิ่ง และทำให้น้ำอยู่ในลำห้วยได้นานขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังสามารถดักตะกอนที่ไหลมากับน้ำ ลดการตื้นเขินที่บริเวณปลายน้ำ ทำให้น้ำมีคุณภาพดีเหมาะแก่การอุปโภคบริโภค ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ทั้งในฤดูน้ำหลากและฤดูแล้ง ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย