สุราษฎร์ธานี 26 พ.ย. – ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กอนช. ยังคงเฝ้าระวังฝนที่จะตกหนักอีกระลอกในภาคใต้ 28 พ.ย. – 1 ธ.ค. นี้ ประสานปภ. พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากทุกจังหวัดให้ส่งเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังพลเข้าพื้นที่ทันที หากประเมินมีโอกาสเกิดภัยเกิน 60%
นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กอนช. ตรวจวัดปริมาณฝนตกสะสมในพื้นที่ภาคใต้พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปริมาณฝนตกสะสมสูงสุด ณ วันที่ 26 พ.ย.64 (เวลา 07.00 น.) อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี 179 มิลลิเมตร อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี 173 มิลลิเมตร อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช 173 มิลลิเมตร อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช 153 มิลลิเมตร อ.หลังสวน จ.ชุมพร 135 มิลลิเมตร
สำหรับลำน้ำที่ลันตลิ่งแล้วได้แก่
– คลองหลังสวน ต.ขันเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร
– แม่น้ำตาปี ต.ทุ่งหลวง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี
– คลองอิปัน ต.ไทรขึง อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี
– คลองวังเคียน ต.วังอ่าง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
ส่วนที่คาดว่า มีแนวโน้มล้นตลิ่งต่อไปได้แก่
– แมน้ำตาปี ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี
– คลองท่าดี ต.ไชยมนตรี อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช
ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก จนเสี่ยงที่จะล้นได้แก่
– อ่างเก็บน้ำคลองหาดส้มแป้น จ.ระนอง
– อ่างเก็บน้ำบางทรายนวล จ.สุราษฎร์ธานี
– อ่างเก็บน้ำห้วยลึก อ่างเก็บน้ำคลองหยา อ่างเก็บน้ำบางกำปรัด อ่างเก็บน้ำคลองแห้ง จ.กระบี่
– อ่างเก็บน้ำบางวาด อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ จ.ภูเก็ต
นายชยันต์กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง 4 จังหวัดได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ล่าสุดร่วมกับ กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่าในวันที่ 28 พ.ย. – 1 ธ.ค. 64 อิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและหย่อมความกดอากาศต่ำ จะส่งผลให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีฝนตกหนักถึงหนักมาก มีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย
- จ.ชุมพร ได้แก่ อ.ทุ่งตะโก หลังสวน ละแม พะโต๊ะ ประทิว และสวี
- จ.สุราษฎร์ธานีได้แก่ อ.ท่าชนะ ไชยา สมุย เกาะพะงัน ดอนสัก และกาญจนดิษฐ์
- จ.นครศรีธรรมราช อ.ชะอวด ทุ่งสง นบพิตำ พิปูน โดยเฉพาะระดับน้ำบริเวณคลองท่าดี อ.ลานสกา
ตลอดจนต้องเฝ้าระวังพื้นที่ใน จ.ตรัง และสตูล รวมถึงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสด้วย ร่วมกับเฝ้าระวังคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยที่จะมีกำลังแรงขึ้นเนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดระดับน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 27-30 พ.ย. ซึ่งจะเป็นผลให้ระบายน้ำได้ช้า
ขณะนี้ประสานไปยังป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดให้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ โดยหากประเมินสถานการณ์พบพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดภัยมากกว่า 60% จะส่งเครื่องจักร เครื่องมือ พร้อมประสานหน่วยงานในพื้นที่ และหน่วยทหาร ให้ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุของแต่ละจังหวัดเข้าแก้ไขสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชนทันที
นายชยันต์กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (27 พ.ย.) จะประชุมศูนย์บริหารจัดการน้ำฯ ครั้งที่ 2 ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เพื่อหารือเกี่ยวกับการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำระหว่างกอนช. และสนทช. เพื่อเตรียมรับฝนที่อาจตกหนักในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว.-สำนักข่าวไทย