กรุงเทพฯ 10 ม.ค. – รมว. เกษตรฯ เผยเตรียมมอบโฉนดเพื่อการเกษตรที่ยกระดับจากส.ป.ก. 4-01 ทั่วประเทศ 15 มกราคม จำนวน25,000 ราย เป็นของขวัญปีใหม่ให้เกษตรกร โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิธี kick off ที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แถลงข่าวการมอบโฉนดเพื่อการเกษตรให้แก่เกษตรกรที่ถือครองหนังสืออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินส.ป.ก. 4-01 โดยมีนายไชยา พรหมาและนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตกรรรม (ส.ป.ก.) เข้าร่วมการแถลงข่าวด้วย
ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า การยกระดับเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน “ส.ป.ก. 4-01” เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” เป็นไปตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ในการให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินจึงนำมาสู่นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯในการปรับปรุงและพัฒนาสิทธิในที่ดินของรัฐ
ทั้งนี้การเปลี่ยนเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินจาก ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตเป็นการขยายสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นที่ยอมรับเพื่อเพิ่มมูลค่าและใช้ค้ำประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น หลังจากนั้นจะมีโครงการเพิ่มเติมคือ การทำ”โฉนดต้นไม้” ในเขต ส.ป.ก. ซึ่งเป็นการออกเอกสารสิทธิสำหรับต้นไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ต้นยางพาราที่ปลูกบนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ โดยจะดำเนินโครงการหลังจากเสร็จสิ้นการมอบที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ มีเงินทุนหมุนเวียนในระบบเพิ่มมากขึ้น สร้างรายได้และลดรายจ่ายครัวเรือนให้แก่เกษตรกรและประชาชน ตลอดจนเพื่อส่งมอบความสุขจากรัฐสู่ประชาชน
สำหรับการมอบโฉนดเพื่อการเกษตรจะมอบพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 15 มกราคม จำนวน 25,000 ฉบับ โดยโดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการมอบโฉนดเพื่อการเกษตรจำนวน 1,000 ฉบับ ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา สำหรับส่วนภูมิภาคกำหนดจัดงาน ณ ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราชในแต่ละจังหวัดในเขตปฏิรูปที่ดิน
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากโฉนดเพื่อการเกษตรได้แก่
1. เปลี่ยนมือได้ (โอนสิทธิ) สามารถโอนคืน ส.ป.ก. ได้ โดยโอนคืนให้ ส.ป.ก.ทั้งแปลงหรือบางส่วนได้ โดยได้รับค่าชดเชย หากเกษตรกรไม่ประสงค์ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สามารถสละสิทธิให้เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตามกำหนด โดยสามารถเปลี่ยนมือให้แก่เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตาม ส.ป.ก. กำหนด
2. เพิ่มวงเงินสินเชื่อ การเข้าถึงแหล่งทุนใหม่ สามารถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ โดยขยายวงเงินสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่ขอกู้กับ ธ.ก.ส. หรือใช้ไม้มีค่าที่ปลูกบนที่ดิน ค้ำประกันสินเชื่อให้เต็มวงเงิน 100% สามารถขอสินเชื่อกองทุน ส.ป.ก. เต็มวงเงินตามราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ นอกจากนั้นยังเพิ่มแหล่งสินเชื่อใหม่ โดยการเจรจากับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ สถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินอื่น
3. สามารถใช้ค้ำประกันตัวบุคคล โดยเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่สามารถค้ำประกันตัวบุคคลทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล โดยความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
4. สร้างรายได้ให้เกษตรกร โดยการปลูกไม้มีค่าหรือการขาย Cabon Credit เพิ่มทรัพย์สินโดยส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า 10 ต้นต่อไร่ ซึ่งสามารถใช้ต้นไม้ค้ำประกันสินเชื่อ (โฉนดต้นไม้) และขาย Carbon Credit โดยความร่วมมือกับ กรมป่าไม้, ธ.ก.ส. และ อบก.
5. ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาในด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค ซึ่งมีการทำ MOU 16 หน่วยงาน ด้านการพัฒนาอาชีพและรับเงินชดเชยหรือเยียวยาภัยพิบัติ
สำหรับการประกอบอาชีพในพื้นที่โฉนดเพื่อการเกษตรสามารถทำได้ทั้งการเกษตรทุกประเภท รวมทั้งกิจการที่เกี่ยวเนื่องซึ่งเป็นกรอบที่กว้างกว่าเดิม. -512 -สำนักข่าวไทย