กรุงเทพฯ 9 ม.ค.- รมว. ธรรมนัสเผยข่าวดี ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะประธานมิลค์บอร์ดลงนามในประกาศปรับขึ้นราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ 2.25 บาท ส่งผลให้ราคาหน้าโรงงานแปรรูป จากเดิมกิโลกรัมละ 20.50 บาท เป็น 22.75 บาท ส่วนราคา ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ จากเดิมกิโลกรัมละ 19 บาท เป็น 21.25 บาท มิลค์บอร์ด โดยมีผลแล้ว
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) ว่า มิลค์บอร์ดเห็นชอบปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมระยะเร่งด่วน
ทั้งนี้มิลค์บอร์ดได้ประชุมครั้งที่ 1/2567 เรื่อง ทบทวนการขออนุมัติปรับเพิ่มราคาน้ำนมดิบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโคนม ตามมติคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ครั้งที่ 5 /2566 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบการปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบจากเดิม 2.25 บาท
ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า จากมติมิลค์บอร์ดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ในการปรับขึ้นราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบขึ้นอีก 2.25 บาท ต่อมาจึงนำมติดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้วเพื่อขอความเห็นชอบ แต่คณะรัฐมนตรีให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้แนวทางลดต้นทุนการผลิตน้ำนมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรแทน ตนเห็นว่า การลดต้นทุนการผลิตนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการอยู่แล้ว แต่เป็นวิธีการที่ต้องใช้เวลา การช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอย่างเร่งด่วนต้องปรับขึ้นราคากลางรับซื้อดังกล่าว
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานมิลค์บอร์ดกล่าวว่า ได้ลงนามในประกาศ 2 ฉบับทันทีเพื่อปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ประกอบด้วย
1. ประกาศคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม เรื่อง ราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ หน้าโรงงานแปรรูปและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2567 โดยปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม จากเดิมกิโลกรัมละ 20.50 บาท เป็นกิโลกรัมละ 22.75 บาท
2. ให้ออกประกาศคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม เรื่อง ราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ พ.ศ. 2567 โดยปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ จากเดิมกิโลกรัมละ 19 บาท เป็นกิโลกรัมละ 21.25 บาท
นอกจากนี้มิลค์บอร์ดยังได้รับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นม พิจารณาช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้แก่ การที่กรมปศุสัตว์ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ และกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ เข้าร่วมประชุมหารือ (ร่าง) โครงการลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมดิบ แนวทางรายละเอียดในประเด็นแหล่งเงินกู้และคุณสมบัติของกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้โครงการมีความสมบูรณ์ในร่างรายละเอียดมากขึ้น รวมถึงเรื่องที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นม ครั้งที่ 1/2567 มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) โครงการช่วยเหลือเกษตรกรโคนม ภายใต้วิกฤตอาหารสัตว์ราคาแพง และมอบหมายกรมปศุสัตว์ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาปรับแก้ไขรายละเอียด (ร่าง) โครงการให้มีความสมบูรณ์ ก่อนเสนอคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมพิจารณาเห็นชอบต่อไป.- 512- สำนักข่าวไทย