กรุงเทพฯ 6 พ.ย. – รมว. เกษตรฯ มอบนโยบายแก่กยท. เน้นย้ำแนวทางบริหารยางพารา โดยเชื่อมโยงข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานยาง ให้ปริมาณการผลิตสอดคล้องกับความต้องการใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา เตรียมปัดฝุ่นโครงการถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ ให้กยท. ลงทุนร่วมเอกชนเปิดโรงงานยางล้อ ขอมติครม. ให้รถราชการทุกคันใช้ พร้อมย้ำเร่งเดินหน้าภารกิจขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางยางพาราโลก
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบนโยบายขับเคลื่อนการบริหารยางพาราแก่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยมีนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. นำผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งพนักงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศเข้ารับฟังนโยบาย
ร้อยเอกธรรมนัสว่า ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางให้ดีขึ้นภายใต้นโยบาย “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน ” โดยยกระดับอุตสาหกรรมยางพารา ทั้งด้านการบริหารจัดการข้อมูลยางผ่านระบบ Blockchain ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานยางพารา ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ทะเบียนสวนยาง โดยจัดเก็บข้อมูลพื้นที่แปลงยางผ่านระบบ GIS ครอบคลุมถึงพันธุ์ยางและปริมาณผลผลิต เพื่อคาดการณ์ผลผลิตยาง จึงสามารถควบคุมการนำเข้ายางพาราจากต่างประเทศ ป้องกันการแทรกแซงราคายาง อีกทั้งระบบบริหารจัดการข้อมูลยาง จะช่วยแสดงแหล่งกำเนิดที่มาของสินค้าว่าไม่มีการบุกรุกทำลายป่า หรือเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม (EUDR และ Carbon Credit) เพิ่มโอกาสทางการแข่งขันให้แก่ประเทศ
ทั้งนี้ ขอให้สำรวจสตอกยางพาราเพื่อจะได้นำข้อมูลมาบริหารจัดการให้ปริมาณการผลิตสอดคล้องกับความต้องการใช้ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาได้ โดยอาจดำเนินมาตรการเสริมเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ผ่านโครงการชะลอยางเพื่อควบคุมปริมาณยางในระบบที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพราคายางในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งมีการเพิ่มวงเงินงบประมาณให้เพียงพอและสามารถดำเนินการได้ทันที ตลอดจนควบคุมปริมาณผลผลิตยาง ด้วยการจัดทำ Zoning พื้นที่กรีดยาง หยุดกรีดในพื้นที่ที่ประสบภัยทางธรรมชาติ มิโรคระบาด หรือพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยชาวสวนยางจะได้รับความช่วยเหลือทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงิน เพื่อลดผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ตลอดจนมีแนวทางดำเนินโครงการพักชำระหนี้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้นของรัฐบาล ช่วยลดภาระการชำระหนี้สิน เสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกร
ร้อยเอกธรรมนัสย้ำว่า จะต้องยังช่วยส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรมยางได้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศให้เพิ่มขึ้น โดยเตรียมจะฟื้นโครงการใช้ยางพาราผสมในดินซีเมนต์เพื่อทำถนนซึ่งจะต้องหารือกับกระทรวงคมนาคม พร้อมกันนี้จะให้กยท. ลงทุนร่วมกับเอกชนเพื่อเปิดโรงงานล้อยาง แล้วขอมติครม. บังคับให้รถราชการทุกคันใช้ล้อยางที่ผลิตจากโรงงานของกยท. ซึ่งจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางได้เป็นอย่างมาก พร้อมๆ กับที่ต้องเร่งขยายตลาดส่งออก
นายณกรณ์กล่าวว่า กยท. มุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการระบบยางพาราของประเทศ ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับกยท. กว่า 1.7 ล้านราย พื้นที่สวนยางรวมกว่า 19.8 ล้านไร่ และมีสถาบันเกษตรกรขึ้นทะเบียน 1,101 สถาบัน มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกทั้งหมด 327,782 ราย ตลอดจนผู้ประกอบการจำนวน 558 ราย มีสำนักงานตลาดกลางยางพารา 8 แห่ง มีปริมาณยางที่ผ่านตลาดกลางทั้งหมดประมาณ 3 แสนตัน/ปี และตลาดเครือข่าย 584 ตลาดทั่วประเทศ
นอกจากนี้ กยท. ได้พัฒนาระบบ Thai Rubber Trade (TRT) ซึ่งเป็น Digital Platform เชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง 8 ตลาดเข้าด้วยกัน โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – ตุลาคม 2566 มีมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้นกว่า 2.9 พันล้านบาท
นายณกรณ์ยังกล่าวถึงนโยบาย 1 ลด 3 เพิ่ม (R3I) ที่ กยท. ผลักดันเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยาง โดยลดต้นทุนการผลิต (Reduce Cost) ด้วยการจัดสรรปัจจัยการผลิต สนับสนุเงินกู้-เงินอุดหนุน ซึ่งกำหนดวงเงินงบประมาณสำหรับเงินกู้ 408 ล้านบาท และเงินอุดหนุน 678 ล้านบาท ขณะเดียวกันดำเนินการเพิ่มผลผลิต (Increase Yield) โดยการบริหารจัดการสวนยาง ตั้งแต่พันธุ์ยาง ระบบกรีด และการจัดการโรค เพิ่มรายได้ (Increase Income) โดยการสร้างรายได้ทางเลือกในสวนยางด้วยการทำเกษตรผสมผสาน เลี้ยงสัตว์ และจัดการสวนยางตามมาตรฐาน Carbon
Credit เพิ่มมูลค่า (Increase Value) โดยการพัฒนามาตรฐานการแปรรูปยาง ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนในการวิเคราะห์ผลผลิต รวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ยาง (Traceability)
สำหรับโครงการสำคัญของ กยท. ที่ขานรับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น กยท. ได้ดำเนินงานและขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสวนยางให้มีความยั่งยืน โดยเน้นให้ความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและยึดถือผลประโยชน์ของชาวสวนยางเป็นหลักเสมอมา โดยมีโครงการสำคัญ เช่น โครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 8,060 ราย รายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 14,400 บาทต่อครัวเรือนรวมกว่า 116 ล้านบาท และมีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วม 85 แห่ง รายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 1.56 ล้านบาทต่อแห่ง รวมกว่า 127 ล้านบาท
ทั้งนี้กยท. จะเร่งขับเคลื่อนการบริหารจัดการยางให้ครอบคลุมทุกมิติ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปยางตามมาตรฐานสากล และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อขยายโอกาสด้านการแข่งขัน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับยางพาราทั้งระบบ อันจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย