กรุงเทพฯ 3 ต.ค.- รมว. เกษตรฯ เผย สั่งการให้กรมชลประทานเร่งระบายออกจากพื้นที่น้ำท่วม ขณะเดียวกันให้แบ่งน้ำจากลำน้ำสายหลักออกสู่ลำน้ำสาขาเพื่อลดผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะที่ลุ่มน้ำยมต้องป้องกันไม่ให้น้ำท่วมตัวเมืองสุโขทัย ส่วนที่เขื่อนเจ้าพระยาต้องพร่องน้ำเพื่อรองรับน้ำเหนือที่จะไหลลงมาเพิ่ม แต่ยังมั่นใจ กรมชลประทานสามารถรับสถานการณ์น้ำจากฝนตกหนักในระยะนี้ได้
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า สั่งการให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยปรับแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และระบบชลประทาน เพื่อหน่วงน้ำที่ไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำสายหลักให้มากที่สุดตามศักยภาพในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงการจัดจราจรทางน้ำเพื่อลดผลกระทบจากน้ำที่จะไหลหลากลงมายังแม่น้ำยม แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำชี-มูล
สำหรับลุ่มน้ำวัง ปริมาณน้ำในแม่น้ำวังเพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่ง ส่งผลกระทบกับจังหวัดลำปางและตากบางส่วน แนวโน้มสถานการณ์ลดลง โดยกรมชลประทานได้เร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง
ส่วนที่เป็นห่วงคือ ลุ่มน้ำยม กรมชลประทานรายงานว่า ได้ใช้ประตูระบายน้ำ (ปตร.) แม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) หน่วงน้ำไว้ด้านเหนือปตร. เพื่อลดผลกระทบน้ำหลากบริเวณพื้นที่เศรษฐกิจและตัวเมืองสุโขทัย พร้อมกันนี้จัดจราจรน้ำด้วยการผันน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำยม ไปเก็บไว้ในที่ทุ่งบางระกำเพื่อช่วยหน่วงน้ำ ไม่ให้ไหลลงมากระทบต่อพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งนี้ได้ย้ำว่า ต้องป้องกันไม่ให้น้ำท่วมตัวเมืองสุโขทัยซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ฝนที่ตกในพื้นที่ตอนบนส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น โดยที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,640 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 1,517 ลบ.ม./วินาที จึงบริหารจัดการโดยผันน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์
สำหรับปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาวันนี้อยู่ที่ 1,280 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 1,049 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำจากทางตอนบนไหลลงมาเพิ่มเติม จำเป็นต้องพร่องน้ำบางส่วนเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาสมทบอีก แต่จะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนให้น้อยที่สุด
ก่อนหน้านี้กรมชลประทานได้ทำหนังสือด่วนที่สุดประสานไปยังหน่วยงานระดับจังหวัดในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำและการปรับเพิ่มการระบายน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดการณ์ปริมาณน้ำที่ สถานี C2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,300 – 1,600 ลบ.ม. /วินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขามีปริมาณประมาณ 50 – 150 ลบ.ม. /วินาทีซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยามีระหว่าง 1,350 – 1,750 ลบ.ม. /วินาที โดยรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งประมาณ 350 ลบ.ม. /วินาที
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราระหว่าง 1,000 – 1,400 ลบ.ม. /วินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 1.00-1.50 เมตร โดยอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,400 ลบ.ม. /วินาทีจะแจ้งให้ทราบต่อไป
ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล เนื่องจากมีปริมาณฝนเพิ่ม ทำให้ลุ่มน้ำชีตอนบนมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น กรมชลประทานใช้เขื่อนทดน้ำต่างๆ ในแม่น้ำชีและลำน้ำสาขา เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำมูล เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ โดยที่สถานีวัดน้ำ M.7 ระดับน้ำในแม่น้ำมูลระดับอยู่ที่ 112.67 เมตร รทก. จากวานนี้ที่ 112.67 เมตร รทก. ลดลง 5 เซนติเมตร แนวโน้มเริ่มลดระดับลง โดยการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงยังทำได้ดี แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังน้ำที่จากลุ่มน้ำชีตอนบนและที่ระบายจากเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ซึ่งจะไหลลงมาสมทบในอีกประมาณ 5-6 วันข้างหน้า
รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ที่ยังมีปริมาณฝนตกอยู่ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้าช่วยเหลือประชาชนให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ โดยจัดจราจรน้ำให้สอดคล้องเชื่อมโยงกัน ให้ระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นให้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.-สำนักข่าวไทย