กรุงเทพฯ 29 มิ.ย.- อธิบดีกรมชลประทาน เผยสั่งการให้เร่งสำรวจเขื่อนในภาคเหนือ ตามที่เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งมีจุดศูนย์กลางใน จ.พิษณุโลก ย้ำให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัย เนื่องจากเขื่อนทุกเขื่อนออกแบบให้รองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวไว้ด้วยค่าสูงสุดของความเสี่ยงในพื้นที่ประเทศไทย

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สั่งการให้สำนักงานชลประทานในภาคเหนือ เข้าไปตรวจสอบเขื่อนต่างๆ ตามที่ได้เกิดแผ่นดินไหว เมื่อคืนที่ผ่านมา (29 มิ.ย.) เวลา 00.17 น. ขนาด 4.5 ที่ระดับความลึก 5 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางอยู่ที่ี่ละติจูด 16.558 องศาเหนือ ลองจิจูด 100.368 องศาตะวันออก บริเวณตำบลไผ่ล้อม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก โดยกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า เป็นแผ่นดินไหวระดับตื้นมาก แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวอยู่ในระดับ 4-5 (เบา-ปานกลาง) ตามมาตราเมอร์คัลลี ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และจังหวัดเลย สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ทั่วไป โดยมีรายงานความเสียหายเล็กน้อย
นอกจากนี้ยังสั่งการให้ส่วนวิศวกรรมธรณี สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา เข้าตรวจสอบค่าอัตราเร่งสูงสุดที่มีผลกระทบต่อเขื่อนแล้ว ยืนยันว่า กรมชลประทานได้ออกแบบเขื่อนทุกแห่งให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวไว้ด้วยค่าที่สูงสุดของความเสี่ยงในพื้นที่ประเทศไทย จึงมั่นใจว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน และในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก อ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบน อ่างเก็บน้ำห้วยลึก อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ท้อ อ่างเก็บน้ำแม่ล้อหัก จังหวัดตาก เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา อ่างเก็บน้ำแม่พริก จังหวัดลำปาง และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่


นายประพิศ ยืนยันว่า กรมชลประทานได้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนจากเครื่องมือติดตามพฤติกรรมเขื่อน รวมถึงติดตามข้อมูลทางสถิติของค่าความเร่งสูงสุดที่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวสม่ำเสมอ เพื่อนำมาประเมินเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น รวมทั้งแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเขื่อน เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ท้ายเขื่อน มีความมั่นใจและเชื่อมั่นในความปลอดภัยแข็งแรงของเขื่อนตลอดเวลา.-สำนักข่าวไทย