กรุงเทพฯ 16 ม.ค. – กลุ่มทิสโก้ คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2566 เติบโต 3-4% พร้อมเปิดกลยุทธ์สู่ “ปีแห่งการเติบโต” ทั้งธุรกิจสินเชื่อ-ประกันภัย-ธนบดี เร่งขับเคลื่อนนวัตกรรม ยกระดับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล รอดูหลักเกณฑ์ตั้งVirtual Bank จาก ธปท.ก่อนตัดสินใจ ขณะที่ปี 65 กำไรสุทธิ 7,222 ล้านบาท โต 6.4% เงินสำรองสูงถึง 258.8% และ BIS Ratio แข็งแกร่งกว่า 23.4%
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (Mr. Sakchai Peechapat, Group Chief Executive, TISCO Financial Group Public Company Limited) เปิดเผยว่าในปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยกลุ่มทิสโก้ประเมินว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3-4% มีแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และการบริโภคภาคเอกชนที่มีทิศทางขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการจ้างงานในภาคบริการ อย่างไรก็ตามแม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออกที่อาจหดตัวลงตามการชะลอตัวของประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ และยุโรปด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะทยอยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ มาอยู่ที่ระดับ 2%
สำหรับแผนดำเนินงานปี2566 กลุ่มทิสโก้ ปรับกลยุทธ์เข้าสู่โหมดของ “การเติบโต” ตามทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวโดยนำความเชี่ยวชาญในทุกแขนงมาพัฒนาต่อยอด ด้วยกลยุทธ์ที่ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ เร่งขยายการเติบโตธุรกิจสินเชื่อในเชิงรุก โดยเน้นกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกันที่กลุ่มทิสโก้มีความเชี่ยวชาญ ในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อเพื่อการบริโภค ด้วยการกระจายเครือข่ายสาขาอย่างครอบคลุม, สร้างการเติบโตจากรายได้ค่าธรรมเนียม ในกลุ่มธุรกิจนายหน้าประกันภัย ธุรกิจธนบดีและตลาดทุน, ยกระดับการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล และพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง มุ่งให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) ตอบโจทย์ลูกค้าในยุคปัจจุบัน, และขับเคลื่อนองค์กรด้วยความยั่งยืน ตามแนวทาง ESG สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
“สำหรับธุรกิจด้านธนาคาร ที่ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 50-55 สาขา คาดว่าจะไม่ขยายสาขาเพิ่มเติม และอาจปรับลดลงโดยจะเปลี่ยนธนาคารบางสาขา ไปเป็นสำนักประเมินสินเชื่อ เพื่อรองรับเช่าซื้อที่ขยายตัวตามแผนดำเนินงาน ส่วนการจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ขอรอดูหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะเข้ากับโมเดลธุรกิจของกลุ่มทิสโก้หรือไม่ เพื่อพิจารณาตัดสินใจอีกครั้ง” นายศักดิ์ชัย กล่าว
ขณะที่ผลประกอบการปี 2565 มีกำไรสุทธิ 7,222 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบกับปี 2564 หลักๆ มาจากธุรกิจสินเชื่อที่สามารถเติบโตได้ถึง 7.9% ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 2.2% พร้อมด้วยค่าธรรมเนียมธุรกิจนายหน้าประกันภัยขยายตัวถึง 24.0% สอดคล้องกับปริมาณสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทำให้ภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้น13.4% บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) สำหรับปี 2565 อยู่ที่ 17.2%
เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 มีจำนวน 219,004 ล้านบาท เติบโต 7.9% ระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงถึง 258.8% มีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ในระดับแข็งแกร่งอยู่ที่ 23.4% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดย ธปท.-สำนักข่าวไทย