กรุงเทพฯ 6 ต.ค.- อธิบดีกรมชลประทาน ระบุน้ำเหนือไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจนถึง 3,000 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาสูงขึ้น จึงปรับเพิ่มปริมาณน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยาสำหรับรับเข้าทุ่งลุ่มต่ำและเพิ่มการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเล็กน้อย โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำมากขึ้น ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์คงปริมาณการระบายตามแผนจัดจราจรน้ำ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ปริมาณน้ำเหนือจากแม่น้ำปิง วัง ยม และน่านไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น วันนี้น้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 อยู่ที่ 3,048 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 2,974 ลบ.ม./วินาที จากนั้นมีน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังไหลมาสมทบซึ่งแม่น้ำสะแกกรังมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเช่นกัน อยู่ที่ 393 ลบ.ม./วินาที จากเมื่อวานนี้อยู่ที่ 333 ลบ.ม./วินาที ทำให้น้ำไหลไปยังหน้าเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มที่อัตรา 3,191 ลบ.ม./วินาที จากเมื่อวานนี้อยู่ที่ 3,097 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนยกสูงขึ้นจากเมื่อวานนี้ที่ 17.52 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (เมตรรทก.) เป็น 17.62 เมตรรทก.
การที่ระดับน้ำหน้าเขื่อนยกสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เหนือเขื่อนได้แก่ อำเภอเมืองชัยนาท วัดสิงห์ และมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี และอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์เพิ่มขึ้น กรมชลประทานได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ว่า จะควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาที่ 17.50 เมตร รทก. เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่เหนือเขื่อนมากเกินไป
ขณะเดียวกันก็ห่วงใยประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนซึ่งน้ำท่วมมานานกว่า 2 เดือน จึงบริหารจัดการโดยเพิ่มการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อรับน้ำเข้าทุ่งมากขึ้น จากเมื่อวานรับน้ำเข้าทั้ง 2 ฝั่งรวม 400 ลบ.ม./วินาที เป็น 426 ลบ.ม./วินาทีในวันนี้ ทำให้การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้เล็กน้อย โดยเมื่อวานระบายที่ 2,697 ลบ.ม./วินาที เป็น 2,765 ลบ.ม./วินาที โดยจะควบคุมไม่ให้เกิน 2,800 ลบ.ม./วินาที ตามประกาศของ กอนช.
ส่วนที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์คงการระบายที่ 800 ลบ.ม./วินาที โดยปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนมี 1,050 ลบ.ม./วินาที เกินความจุที่ 960 ลบ.ม./วินาที หรือคิดเป็น 109% เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ ซึ่งเกินความจุ 105% แต่มีความจำเป็นต้องคงการระบายเพื่อจัดจราจรน้ำ ให้น้ำที่ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไหลออกทะเลไปก่อน เพื่อลดผลกระทบบริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำทั้ง 2 สายในอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ส่วนที่เขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระบายที่ 983 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ที่ 906 ลบ.ม./วินาที ทำให้น้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ด้านท้าย
กรมชลประทานได้เร่งระบายน้ำออกทะเลอย่างเต็มศักยภาพ โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมบริเวณประตูระบายน้ำต่างๆ ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกเพิ่มอีก 69 เครื่อง จากเดิมที่ใช้สถานีสูบน้ำระบายน้ำอยู่ 366 เครื่อง เพื่อเสริมการระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดปริมาณน้ำที่ท่วมขังโดยเร็วที่สุด พร้อมเน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน.-สำนักข่าวไทย