กรุงเทพฯ 23 ก.ย. – ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำติดตามการพัฒนาตัวและทิศทางของพายุโซนร้อน “โนรู” จากหลายแบบจำลอง คาดว่า จะเคลื่อนขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม 27-28 ก.ย. แล้วมีแนวโน้มเคลื่อนเข้ามาสู่ประเทศไทยที่จ. มุกดาหารหรือรอยต่ออุบลราชธานี หากเข้ามา จะเคลื่อนที่ผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ส่งผลให้มีฝนเพิ่มขึ้นในลุ่มน้ำชี-มูล เจ้าพระยา และป่าสัก
ดร. สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือสสน. กล่าวว่า พายุโซนร้อน “โนรู” ซึ่งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก มีทิศทางเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก เมื่อเคลื่อนผ่านประเทศฟิลิปปินส์เข้าสู่ทะเลจีนใต้อาจทวีกำลังแรงเป็นพายุไต้ฝุ่นได้เนื่องจากทะเลอุ่น อุณหภูมิสูงกว่า 28 องศาเซลเซียส ที่พายุจะได้รับพลังงานและทวีกำลังแรงขึ้นได้
สำหรับเส้นทางคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (Japan Meteorological Agency : JMA) และศูนย์ความร่วมมือเตือนภัยไต้ฝุ่น (Joint Typhoon Warning : JTWC) คาดค่อนข้างไปในทิศทางคล้ายกันว่า พายุ “โนรู” จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามวันที่ 27-28 ก.ย. แล้วเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยที่จ. มุกดาหารหรือรอยต่ออุบลราชธานีในช่วงวันที่ 28-29 ก.ย. เส้นทางพายุลูกนี้เหมือนกับพายุ “กฤษณา” ที่เกิดขึ้นในปี 2552 โดยเป็นปีที่มีสภาพทะเลคล้ายกับปี 2565 นี้
ดร. สุทัศน์กล่าวว่า หากพายุมาจริงก็เป็นห่วงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งตอนบนและตอนล่าง รวมถึงลุ่มน้ำป่าสักเนื่องจากพายุจะเคลื่อนตัวผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคกลาง ทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น โดยที่ทั้ง 3 ลุ่มน้ำมีปริมาณน้ำมากอยู่แล้ว ขณะนี้เหลือเวลา 1 สัปดาห์ที่พายุจะเข้าสู่ประเทศไทย กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้วางมาตรการรับสถานการณ์ไว้แล้วล่วงหน้า ทั้งการเร่งพร่องน้ำและเตรียมการระบายน้ำ โดยสสน. จะทำงานร่วมกันกับทุกหน่วยงานที่ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าทั้งที่จังหวัดอุบลราชธานีและชัยนาท ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดสำหรับกำหนดแนวทางบริหารจัดการเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด.-สำนักข่าวไทย