กรุงเทพฯ 15 ต.ค. – รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยืนยันพายุ “เซินกา” ไม่ส่งผลรุนแรงต่อประเทศไทยเท่ากับพายุ “โนรู” ด้านทีมกรุ๊ป ประเมินมีพายุอีก 2 ลูก แต่ไม่กระทบไทย ชี้ได้รับอิทธิพลของมวลอากาศเย็นจากจีนช่วย ส่วนฤดูหนาวปีนี้มากและนานกว่าปี 64
ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงความรุนแรงของพายุ “เซินกา” ว่า ขณะนี้ได้อ่อนกำลังเป็นดีเปรสชันแล้ว หลังเคลื่อนเข้าสู่ประเทศเวียดนาม และจะเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ทันทีที่เคลื่อนเข้าสู่เมืองสาละวัน สปป ลาว ซึ่งเมื่อพายุกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ มีโอกาสที่จะสลายตัวสูง เนื่องจากอิทธิพลของมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน เมื่อเข้าไปผสมกับพายุ จึงทำให้อ่อนกำลังลงเร็วขึ้น
โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคอีสาน คือ มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ทางตอนกลางและตอนล่างของภาค และบางพื้นที่ฝนจะตกหนัก ซึ่งผลกระทบจะเกิดขึ้นช่วง 1-2 วันนี้เท่านั้น และปริมาณฝนที่ตกไม่มากเท่ากับพายุ “โนรู” ส่วนภาคใต้ มีร่องมรสุมกำลังแรง จึงทำให้เกิดฝนตกชุกหนาแน่นในช่วงนี้
รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ฝนที่ตกทางภาคอีสานและภาคใต้ช่วงนี้เป็นบริเวณที่เติมน้ำทั้งนั้น จึงมีโอกาสที่จะเกิดสภาวะน้ำท่วมสูงขึ้นบ้าง รวมถึงน้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากมีน้ำฝนที่ถูกเติมเข้าไป
ส่วนโอกาสที่จะเกิดพายุลูกใหม่เข้ามาในประเทศไทยอีกหรือไม่ รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีตัวการไหนที่จะเป็นพายุ นอกจากหย่อมความกดอากาศต่ำเหนือเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ แต่โอกาสที่จะเข้าสู่ทะเลจีนใต้ และมีผลกระทบต่อประเทศไทยน้อย ส่วนตัวการอื่น ยังไม่มีก่อตัวในช่วงนี้ เพราะฉะนั้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ยังไม่มีพายุเข้าสู่ประเทศไทย แต่ในฤดูกาลเช่นนี้ ถือเป็นฤดูกาลของพายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ ซึ่งร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคใต้ ดังนั้นโอกาสหลังจากนี้ประเทศไทยตอนบนจะเข้าสู่ฤดูหนาว คาดหลังกลางเดือนหรือสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งประเทศไทยตอนบนอากาศจะหนาวเย็นลง ทั้งนี้ ในวันที่ 16-18 ตุลาคมนี้ มวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุม ทำให้ภาคเหนือและภาคอีสาน อุณหภูมิลดลง 2-4 องศาฯ ส่วนภาคกลาง อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาฯ
“ประเทศไทยตอนบนจะมีเรื่องของพายุเซินกาที่เข้ามาเติมน้ำในภาคอีสานมากขึ้น ส่งผลถึงภาคกลาง ภาคตะวันออก ที่ทำให้มีฝน แต่ฝนที่ตกไม่มากนัก ส่วนภาคใต้เข้าสู่ฤดูกาลฝน เพราะมีร่องมรสุมพาดผ่าน ทำให้มีฝนตลอดช่วงหนักสลับเบา อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ประเทศไทยตอนบนเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างชัดเจน ฝนจะเริ่มน้อยลง ส่วนภาคใต้ยังรับฝนอยู่ และบางปีพบว่ามีพายุหมุนเขตร้อนพัดเข้ามา ซึ่งปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาไม่ได้ประมาท ได้เตรียมการเฝ้าระวัง หากมีสถานการณ์จะชี้แจงให้ประชาชนทราบล่วงหน้า 3 วัน”
รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยังกล่าวว่า สำหรับฤดูหนาวในปี 2565 จะหนาวเย็นมากกว่าปีที่แล้ว อุณหภูมิต่ำสุดตอนเช้าเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 17-19 องศาเซลเซียส ซึ่งปี 2564 อุณหภูมิต่ำสุดในตอนเช้าเฉลี่ยอยู่ที่ 21 องศาเซลเซียส สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล คาดว่าอุณหภูมิต่ำสุดตอนเช้าเฉลี่ย 17-18 องศาเซลเซียส ซึ่งจะรู้สึกเย็นไม่ถึงขั้นหนาวเท่ากับภาคเหนือและภาคอีสาน
“อากาศหนาวจะปรากฏชัดเจนในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ซึ่งช่วงเดือนมกราคมจะถือว่าหนาวที่สุด พร้อมย้ำว่า ฤดูหนาวปีนี้จะหนาวนานและหนาวมากกว่าปี 2564”
ทั้งนี้ เงื่อนไขในการเข้าสู่ฤดูหนาว มี 3 ปัจจัย คือ อุณหภูมิต่ำสุดตอนเช้าเฉลี่ยทั้งประเทศต้องอยู่ที่ 23 องศาเซลเซียส อย่างต่อเนื่องในประเทศไทยตอนบน 2. ระดับของลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน นั่นคือ ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นลมหนาวและลมเย็น เกิดขึ้นต่อเนื่องแล้วหรือยัง และลมตะวันตกพัดปกคลุมประเทศไทยแล้วหรือยัง 3. การกระจายและปริมาณฝนที่ตกในประเทศไทยตอนบนลดลง อย่างชัดเจนแล้วหรือยัง หากเข้าสู่ปัจจัยเหล่านี้ก็ถือว่าเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว
นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริษัททีมกรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ กล่าวว่า พายุเซินกาจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศไทย เนื่องจากมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนยังแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ทำให้พายุที่เพิ่มกำลังเป็นโซนร้อนสลายตัวอย่างรวดเร็ว และปริมาณฝนที่ตกประมาณ 45 มิลลิเมตร ในพื้นที่ขอบแม่น้ำโขง ซึ่งน้อยกว่าปริมาณฝนที่ตกในช่วงพายุโนรูเข้าไทย ทำให้ จ.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร มีปริมาณฝน 200 มิลลิเมตร ถือว่าโชคดีที่ลมหนาวจากจีนอีกระลอกพับลงมา ขณะที่วันพรุ่งนี้ (16 ต.ค.) ฝนจะลดลงและแทบไม่มีฝน
ส่วนคาดการณ์พายุมีอีก 2 ลูก เป็นดีเปรสชันจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม แต่มาไม่ถึงประเทศไทย เพราะจะเข้าลักษณะเดียวกับพายุเซินกา เมื่อขึ้นฝั่งจะถูกลมหนาวพัดลงทะเลไป ซึ่งถือว่าเป็นโชคดี เพราะขณะนี้น้ำใน จ.อุบลราชธานี ยังคงท่วม จากการคาดการณ์แนวโน้มจะท่วมไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้
นายชวลิต ยังอธิบายว่า จ.อุบลราชธานี เป็นจุดรวมของแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ซึ่งจากแผนที่ของจิสด้า พบว่า น้ำยังคงค้างอยู่ที่ จ.ชัยภูมิ ต้องใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ กว่าจะไหลลงมา และตอนนี้สถานการณ์ถือว่าดีที่ระดับน้ำที่เข้ามาและน้ำที่ระบายออกในปริมาณใกล้เคียงกัน ระดับน้ำจะไม่สูงขึ้น แต่จะทรงตัว ดังนั้น ในช่วง 2 อาทิตย์นี้ ต้องประคับประคองสถานการณ์ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ทั้งเรื่องของอุปโภคบริโภคด้วย
ส่วนที่พิบูลมังสาหาร มีแก่งสะพือ ที่ทำให้ปริมาณน้ำติดอยู่บริเวณนั้น แม้ระดับน้ำโขงไม่มาก ซึ่งมีลักษณะเดียวกับปีที่แล้วที่โดนพายุเตี้ยนหมู่ ทำให้น้ำท่วมขังที่ จ.อุบลราชธานี เป็นระยะเวลานาน จึงเห็นว่ารัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแก้ไขและระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว
นายชวลิต ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับฤดูหนาวในปีนี้จะมีสภาพอากาศหนาวเย็น เนื่องจากอยู่ในย่านลานีญาที่มีน้ำมาก ก็จะส่งผลให้อากาศหนาวมากเช่นกัน ซึ่งการที่มีอากาศหนาวครั้งนี้ ส่งผลดีที่ทำให้พายุเบาลง. – สำนักข่าวไทย