กรุงเทพฯ 10 ก.ย.- กรมชลประทานปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นอัตรา 350 ลบ.ม./วินาที แจ้งเตือน 3 จังหวัดคือ ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้น 0.40-1.00 เมตร แต่ยืนยันระดับน้ำยังคงอยู่ในลำน้ำ โดยไม่ล้นตลิ่งแม่น้ำป่าสัก ส่วนเขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงมาเพิ่ม
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์รายงานว่า ได้ทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จากอัตรา 300 ลบ.ม./วินาที จนถึงอัตรา 350 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มี 325 ล้าน ลบ.ม. เมื่อเทียบกับความจุ 960 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 33.94% โดยยังไม่เกินเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ แต่เนื่องจากน้ำท่าที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยวันนี้มีน้ำไหลเข้า 31.96 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานที่มีน้ำไหลเข้า 28.51 ล้าน ลบ.ม. จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเพื่อควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
สำหรับการปรับเพิ่มในอัตราดังกล่าวจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.40-1.00 เมตร แต่ย้ำว่า ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นยังอยู่ในลำน้ำและไม่เกิดสภาวะน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำสัก
อย่างไรก็ตาม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อแจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มว่า น้ำเหนือจะไหลลงมาเพิ่มขึ้นจากฝนที่ตกต่อเนื่อง วันนี้น้ำจากแม่น้ำปิง วัง ยม และน่านไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ 1,578 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ซึ่งอยู่ที่อัตรา 1,498 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานีมีปริมาณเพิ่มขึ้นเช่นกัน แล้วไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนไหลต่อไปยังหน้าเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาทในปริมาณเพิ่มขึ้นทำให้เช้าวันนี้ปรับเพิ่มการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจาก 1,448 ลบ.ม./วินาทีเป็น 1,500 ลบ.ม./วินาที จากนั้นเวลา 11.00 น. จะปรับเพิ่มเป็น 1,550 ลบ.ม./วินาที
ทั้งนี้ กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพ แต่หากน้ำเหนือไหลลงมาเพิ่มอาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายให้สอดคล้องกัน โดยจะพยายามลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำให้มากที่สุด.-สำนักข่าวไทย