กรุงเทพฯ 30 ส.ค. – อธิบดีกรมชลประทาน เผยจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา แต่จะหน่วงและชะลอการเพิ่มไว้จนกว่าข้าวนาปีของเกษตรกรทุ่งป่าโมกและผักไห่เก็บเกี่ยวหมดเพื่อลดผลกระทบ คาดแล้วเสร็จภายในอีก 1 สัปดาห์ ขณะที่ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เนื่องจากน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำลดลงแล้ว
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า มีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เนื่องจากน้ำเหลือไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น โดยเช้านี้ปริมาณน้ำไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ 1,762 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ ซึ่งอยู่ที่ 1,678 ลบ.ม./วินาที อีกทั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์นี้ อาจมีปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้ต้องเพิ่มการระบายน้ำ
วันนี้กรมชลประทานระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1700 ลบ.ม/วินาที โดยจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจนถึง 1,800 ลบ.ม/วินาที แต่การปรับเพิ่มจะทยอยปรับ โดยจะใช้เขื่อนเจ้าพระยาหน่วงน้ำไว้ให้ได้มากและนานที่สุด เพื่อให้พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งป่าโมก จ.อ่างทอง และทุ่งผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เก็บเกี่ยวข้าวให้หมดก่อน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในสัปดาห์แรกของเดือน ก.ย.นี้
ปัจจุบันกรมชลประทานเพิ่มการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อแบ่งการระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา แต่ต้องรับในเกณฑ์ที่ไม่กระทบต่อพื้นที่เกษตรในทุ่งทั้ง 2 ฝั่งด้วย ส่วนน้ำที่ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาสู่พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างได้กำชับให้บริหารจัดการตลอดเส้นทางน้ำแต่ละพื้นที่แบบเชื่อมโยงกัน จนกระทั่งออกไปสู่ทะเลเพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อประชาชน
ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ล่าสุดได้ปรับลดการะบายน้ำจากอัตรา 430 ลบ.ม./วินาที เป็น 420 ลบ.ม./วินาที ช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยจะทยอยปรับลดจนเหลือ 300 ลบ.ม./วินาที เนื่องจากปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ต้องควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการเก็บกักน้ำไว้เพื่อใช้ในฤดูแล้งที่จะมากถึงด้วย
นายประพิศ กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ห่วงใยประชาชน จึงสั่งการให้กรมชลประทานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ที่จังหวัดสุโขทัย สำนักงานชลประทานที่ 4 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว 1 เครื่อง ที่บริเวณบ้านจอมสังข์ หมู่ที่ 3 ต.ปากพระ อ.เมืองสุโขทัย เพื่อเร่งสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขังให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
ส่วนจังหวัดปราจีนบุรี สำนักงานชลประทานที่ 9 ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 8 เครื่องบริเวณสะพานต้นแม่น้ำบางปะกง ต.กบินทร์บุรี อ.กบินทร์บุรี เร่งระบายน้ำในแม่น้ำบางปะกง นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่บริเวณสะพานปลายคลองท่าลาด อ.พนมสารคาม สะพานหัวไทร อ.บางคล้า และคลองบางกระเจ็ด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา รวม 12 เครื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และลดผลกระทบปัจจัยเสี่ยงสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่
สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีนได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำท่าจีน 8 จุด ได้แก่ สะพานวัดบางไผ่นารถ สะพานวัดสำโรง สะพานรวมเมฆ สะพานทรงคนอง สะพานโพธิ์แก้ว ประตูระบายน้ำเภาทะลาย ประตูระบายน้ำสองพี่น้อง และสะพานวัดท่าเจดีย์ รวม 87 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำท่าจีนออกสู่อ่าวไทย และช่วยลดปริมาณน้ำในพื้นที่ตอนบน
ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ หมั่นตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือไว้คอยช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ที่สำคัญให้ปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนที่กองอำนวยการชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งประสานหน่วยงานระดับจังหวัดแจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน.-สำนักข่าวไทย