กรุงเทพฯ 26 ส.ค.-กรมชลประทาน ระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,500 ลบ.ม./วินาที ต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ระดับน้ำหน้าเขื่อนอยู่ในเกณฑ์ควบคุม ขณะที่ระดับน้ำท้ายเขื่อนเริ่มทรงตัว เร่งสูบระบายน้ำที่ท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำใน จ.อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า สำนักชลประทานที่ 12 ระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,500 ลบ.ม./วินาทีต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 เพื่อพร่องน้ำหน้าเขื่อนให้มีพื้นที่รองรับน้ำเหนือที่จะไหลลงมาเพิ่มจนน้ำหน้าเขื่อนวันนี้มีระดับ 15 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางซึ่งอยู่ในเกณฑ์ควบคุม
ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ระหว่างวันที่ 27 – 30 ส.ค. ร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลงจึงเป็นจังหวะที่จะเร่งระบายน้ำออกทะเล โดยจะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ตอนล่างให้มากที่สุดด้วย
สำหรับพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ให้พร่องน้ำคลองต่างๆ ตลอดจนคลองที่อยู่ตามรอยต่อกับกรุงเทพฯ ทั้งคลองบางขนาก ประเวศบุรีรมย์ หกวาสายล่าง สำโรง รวมถึงคลองชายทะเลให้ต่ำกว่าระดับเฝ้าระวัง รวมถึงสูบน้ำออกทั้งทางแม่น้ำบางปะกงและคลองชายทะเลเพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอที่รองรับน้ำเหนือที่จะไหลลงมาเพิ่มอีก หากฝนตกลงมาระลอกใหม่
นอกจากนี้สั่งการให้สั่งการให้เร่งสูบระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ โดยเฉพาะบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา มีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำรวม 5 อำเภอได้แก่ อ.บางบาล อ.บางประหัน อ.เสนา อ.ผักไห่ และอ.ท่าเรือ ดังนี้
- โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 8 เครื่อง เพื่อเร่งสูบน้ำจากคลองระบายใหญ่มหาราช 3 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ประตูระบายน้ำ (ปตร.) บางกุ้ง
- โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณแม่น้ำน้อยอีก 12 เครื่อง ได้แก่ บริเวณ ปตร.วัดใบบัว ปตร.เจ้าเจ็ด ปตร.ลาดชะโด คลองตาแย้ม และ ต.บ้านใหญ่ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่
สำหรับที่ จ.อ่างทอง มีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำและบ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำน้อยนอกคันกั้นน้ำรวม 2 อำเภอได้แก่ อ.ป่าโมก และอ.วิเศษชัยชาญ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 1 เครื่องเพื่อเร่งระบายน้ำให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
ทั้งนี้ได้กำชับโครงการชลประทานในพื้นที่ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนได้ทันที และให้ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมรับสถานการณ์น้ำที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน.-สำนักข่าวไทย