กรุงเทพฯ 8 เม.ย.- ก.คมนาคม เดินหน้ารณรงค์ความปลอดภัยทางถนน ขณะที่กรมทางหลวงเตือนผู้ใช้รถ 141 จุดเสี่ยงในการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ทั่วประเทศ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Culture)” ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 วันแรก (4-10 เม.ย.60) ณ บริเวณศูนย์บริการน้ำมัน ปตท. บนทางหลวงหมายเลข 1 กม.58+400 (ขาออก) โดยมีภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน และผู้แทนบริษัท Metropolitan Expressway Company Limited (MET) ของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมในพิธี ซึ่งงานนี้ได้จัดให้มีกิจกรรม “สายสัมพันธ์สัญญาใจ” (เที่ยวสงกรานต์ให้สนุก คือความสุขที่คุณเลือกได้) กิจกรรม “สานสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น สร้างความปลอดภัยทางถนน” และกิจกรรม “จากใจ คค. ถึงเพื่อนร่วมทาง” ตามนโยบายการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ภายใต้นโยบาย One Transport
นายสราวุธ ทรงศิวิไล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงทาง กรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์อำนวยความสะดวกและปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 เปิดเผยว่า กรมทางหลวงทำการสรุปบริเวณจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงทั่วประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ประชาชนที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ โดยบริเวณจุดเสี่ยงที่กรมทางหลวงได้พิจารณาจากข้อมูลหลายแหล่ง ประกอบด้วย 1.) บริเวณจุดเสี่ยง (Black Spot) ที่สำนักอำนวยความปลอดภัยวิเคราะห์จากข้อมูลอุบัติเหตุในปี 2559 จำนวน 293 จุด 2.) บริเวณที่มีความลาดชันเกิน 7% และมีระยะทางยาวมากกว่า 3 กิโลเมตร จำนวน 101 จุด 3.) เส้นทางที่มีอุบัติเหตุสูงสุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา 10 เส้นทาง 4.) ข้อมูลที่หน่วยงานในพื้นที่ อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ตำรวจ กู้ภัย และหน่วยงานอื่นๆ ของจังหวัด ซึ่งได้บูรณาการพิจารณาร่วมกันกำหนดจุดเสี่ยงอันตราย 5.) ข้อมูลจุดเสี่ยงจากแหล่งอื่น อาทิ จากบริษัทประกันภัยกลาง กรณีศึกษาต่างๆ เป็นต้น 6.) ข้อมูลจากหมวดทางหลวง แขวงทางหลวง สำนักงานทางหลวง ซึ่งจากข้อมูลทั้ง 6 ส่วน กรมทางหลวงได้กำหนดจุดเสี่ยงอันตรายใน 3 ลักษณะ ได้แก่ ทางเขา/ทางลาดชันเสี่ยงกับการเบรกแตก ทางโค้งเสี่ยงกับการแหกโค้ง และทางตรงยาวเสี่ยงกับการหลับใน
สำหรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 พบว่า มีจุดเสี่ยงบนทางหลวงทั้งสิ้น จำนวน 141 จุด โดยแบ่งออกเป็นภาคเหนือ 37 แห่ง (ทางลาดชัน/ทางเขา 20 แห่ง ทางโค้ง 8 แห่ง ทางตรง 9 แห่ง) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 31 แห่ง (ทางลาดชัน/ทางเขา 3 แห่ง ทางโค้ง 20 แห่ง ทางตรง 8 แห่ง) ภาคกลาง 30 แห่ง (ทางลาดชัน/ทางเขา 5 แห่ง ทางโค้ง 10 แห่ง ทางตรง 15 แห่ง) ภาคตะวันออก 13 แห่ง (ทางลาดชัน/ทางเขา 4 แห่ง ทางโค้ง 7 แห่ง ทางตรง 2 แห่ง) และภาคใต้ 30 แห่ง (ทางลาดชัน/ทางเขา 3 แห่ง ทางโค้ง 22 แห่ง ทางตรง 5 แห่ง)
“กรมทางหลวงได้ติดตั้งป้ายเตือน/ป้ายแนะนำ ทาสีกันถนนลื่น ในเส้นทางที่มีบริเวณจุดเสี่ยง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน และให้ทุกหน่วยงานร่วมกันระแวดระวัง เป็นการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือผู้ใช้รถใช้ถนนขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด” นายสราวุธ กล่าว.-สำนักข่าวไทย