มูลนิธิป่ารอยต่อฯ 11 ส.ค.-พล.อ.ประวิตร ประชุม คกก.ป่าไม้แห่งชาติ เตรียมเสนอเป็นเจ้าภาพ IUFRO 2029 พอใจผลสำเร็จดูแลป่าได้ตามเป้า
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ครั้งที่2/2565 ที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร้นท์ โดยที่ประชุม ได้รับทราบความคืบหน้าการเสนอตัว เป็นเจ้าภาพจัดประชุม The World Congress of the International Union of Forest Research Organization ครั้งที่ 27 (IUFRO 2029) ซึ่งเป็นการประชุมด้านการป่าไม้ที่ใหญ่ที่สุด งานหนึ่งของโลก เป็นการรวมนักวิจัยจากทั่วทุกมุมโลก ประมาณ 5,000 คน และจัดขึ้นเป็นประจำทุก 5 ปี โดยคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ฃกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการในนามประเทศไทย
ที่ประชุม ยังได้เห็นชอบ(ร่าง)ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้ไม้ท่อนและไม้แปรรูปเป็นสินค้าที่ต้องห้าม หรือต้องมีหนังสือรับรองและให้สิ่งประดิษฐ์ของไม้เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองใน”การนำเข้า”มาในราชอาณาจักร พ.ศ… และเห็นชอบ(ร่าง)ประกาศ เรื่องกำหนดให้ไม้พะยูงเป็นสินค้าที่ต้องห้าม ให้ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และไม้ล้อมบางชนิดเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและให้สิ่งประดิษฐ์ของไม้และถ่านไม้เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองใน”การส่งออก”ไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ… ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้มอบให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเพื่อเสนอ ครม.ต่อไป
นอกจากนี้ ได้เห็นชอบ(ร่าง)ถ้อยแถลงการณ์ในการประชุมรัฐมนตรีเอเปคป่าไม้ ครั้งที่ 5 จำนวน 2 ฉบับได้แก่ 1.(ร่าง)ถ้อยแถลงการร่วมระดับรัฐมนตรีในการประชุมรัฐมนตรีเอเปก ครั้งที่ 5 “ถ้อยแถลงเชียงใหม่”(MMRF5) ซึ่งกล่าวถึงความสำเร็จของการดำเนินงานด้านป่าไม้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ได้ 27.9 ล้านเฮกตาร์ โดยแสดงเจตจำนงที่จะดำเนินการตามพันธกิจของ APEC เกี่ยวกับการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริมการประยุกต์ใช้แนวทาง เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว(BCG) และ2.(ร่าง)ถ้อยแถลงการณ์ประธาน รัฐมนตรีเอเปกด้านป่าไม้ สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเอเปกครั้งที่ 5 เพื่อให้ที่ประชุมได้รับทราบแนวคิดหลักในการเป็นเจ้าภาพของไทย คือ Open. Connect. Balance. เพื่อการจัดการป่าไม้ อย่างยั่งยืน
พลเอกประวิตร ได้กล่าวขอบคุณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ในความมุ่งมั่น ทุ่มเทการทำงาน กระทั่งบรรลุผลสำเร็จตามกรอบเป้าหมายของเอเปค พร้อมกำชับ ให้เร่งดำเนินการต่อเนื่อง ตามที่คณะกรรมการฯ ได้ผ่านความเห็นชอบอย่างเคร่งครัด และนำเสนอ ครม.ต่อไป โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดกับประชาชน และประเทศชาติ ตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงต้องสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้รับทราบการดำเนินงานของภาครัฐ ควบคู่กันไปด้วย.-สำนักข่าวไทย