ทำเนียบรัฐบาล 5 เม.ย.-วิษณุเผยเหตุต้องเรียกปลัดทุกกระทรวงรับทราบแนวทางการปฏิบัติราชการ หลังรธน.ใหม่ประกาศใช้ ระบุมีหลายกฎหมายต้องดำเนินการให้เสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนด หากไม่เสร็จอาจมีผลต่อหัวหน้าส่วนราชการ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุทปลัดทุกกระทรวงรับทราบแนวทางการปฏิบัติราชการภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ ว่า กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าของเรื่องจะสรุปให้ฟังว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานได้รายงานความคืบหน้าการทำงานอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร ซึ่งในโอกาสนี้จะให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขาธิการคณะรัฐมนตรีชี้แจงอีกครั้งว่า ระยะเวลาเฉพาะหน้าภายใน 3-12 เดือนมีเรื่องใดที่ต้องดำเนินการบ้าง
“วันนี้จะคุยกันเรื่องขั้นตอนการดำเนินการ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ สำคัญที่สุดคือการเน้นย้ำว่าบางเรื่องหากทำไม่เสร็จ บางเรื่องอาจจะไม่มีผลอะไร บางเรื่องอาจถูกตำหนิ แต่บางเรื่องที่รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญได้บอกไว้ว่าหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องพ้นจากตำแหน่ง” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า กฎหมาย 3 ฉบับที่จะต้องเร่งดำเนินการ หากไม่ดำเนินการตามกำหนดหัวหน้าส่วนราชการจะต้องรับผิดชอบ ประกอบด้วย การรับฟังความเห็นประชาชนในกรณีที่มีเรื่องกระทบกับสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ต้องมีกฎหมายออกมาว่าด้วยการรับฟังความเห็นประชาชน กฎหมายนี้หากไม่ยกร่างและเสนอให้ทันภายในกรอบเวลา ให้หัวหน้าหน่วยงานพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งหมายถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแลดล้อมเป็นผู้รับผิดชอบ กฎหมายวินัยการเงินการคลัง มีผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ทราบว่าดำเนินการเสร็จแล้ว อยู่ในชั้นของกฤษฎีกา เตรียมเสนอให้สนช.พิจารณา
“ฉบับสุดท้ายเป็นกฎหมายให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริต จากเดิมที่เคยกำหนดให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม แต่คราวนี้เอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งเมื่อวานนี้(3 เม.ย.) ได้ปรึกษากับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ( กรธ.) ว่าใครจะเป็นหัวหน้าหน่วยงานนี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้แล้วว่า ในกรณีที่ไม่รู้ใครเป็นหัวหน้าหน่วยงาน ให้คณะรัฐมนตรีกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบขึ้นมา ซึ่งเรายังไม่ได้กำหนด ซึ่งจะได้หารือต่อไปว่าจะเป็นใครระหว่าง ป.ป.ช. ,ป.ป.ท.หรือกระทรวงยุติธรรม” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า กฎหมาย 3 ฉบับนี้คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 240 วัน เพราะเป็นการแก้ไขเพียงบางมาตราในกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีกฎหมายอีกหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมีผลต่อการดำรงตำแหน่งของหัวหน้าส่วนราชการที่รับผิดชอบด้วยเช่นกัน ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้ได้ระบุไว้บทเฉพาะของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว
“หลังจากกฎหมายทุกฉบับจะต้องดำเนินการตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือการรับฟังความเห็นประชาชน แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเปิดโหวตประชามติหรือทำอะไรกันเอิกเกริก เช่น การขึ้นเว็บไซต์ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก็ถือว่าใช้ได้แล้ว นอกจากนั้นยังไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายตามผลของการรับฟังความคิดเห็น เพราะรับฟังกับเชื่อฟังมีความแตกต่างกัน แต่ผลของการรับฟังจะถูกนำไปใช้ในทุกขั้นตอน คือ เมื่อคณะรัฐมนตรีจัดทำกฎหมายแล้วมีกระบวนการรับฟังความเห็น แม้ครม.จะไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร แต่ต้องรายงานให้สภารับทราบผลของการรับฟังความเห็นนั้นด้วย” นายวิษณุ กล่าว.-สำนักข่าวไทย