สมุทรปราการ 5 ก.ค.- ด่านตรวจสัตว์ป่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจับกุมนักท่องเที่ยวยูเครนลักลอบขนเต่าเข้าประเทศไทย 116 ตัว ต่อมามีชาวอินเดียลักลอบนำเข้าอีก 81 ตัว หลังตรวจยึดให้สัตวแพทย์ตรวจสุขภาพเต่าทั้งหมด ย้ำเฝ้าระวังเข้ม คาดการลักลอบนำเข้าสัตว์ป่าจะมีมากขึ้นเนื่องจากมาตรการผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ
นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญาเปิดเผยว่า ช่วงเช้าวันนี้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์ป่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิพร้อมด้วยสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสาร ด่านกักกันสัตว์ และด่านตรวจประมงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิร่วมกันตรวจค้นสัมภาระหญิงชาวต่างประเทศ สัญชาติ ยูเครน เป็นผู้โดยสารสายการบิน ETHIOPIAN AIRLINE ซึ่งอยู่ระหว่างต่อเครื่องบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยได้เดินทางมาจากเมืองดาร์เอสซาลาม ประเทศแทนซาเนีย ปลายทางกรุงอาดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย หลังพบความผิดปกติของกระเป๋าสัมภาระ จากการตรวจค้นพบเต่ามีชีวิต 116 ตัว ประกอบด้วย เต่าดาวรัศมี 14 ตัว เต่าแพนเค้ก 98 ตัว และเต่ายักษ์อัลดาบรา 4 ตัว มูลค่าประมาณ 900,000 บาท
ในเวลาใกล้เคียงกันได้จับกุมชายชาวอินเดียซึ่งซุกซ่อนเต่าในกระเป๋าสัมภาระมาจากต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิพบความผิดปกติจึงตรวจสอบ พบเต่าดาวอินเดีย 81 ตัว มูลค่าของกลางรวมกว่า 1.7 ล้านบาm การกระทำดังกล่าวมีความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 23 ความผิดตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มาตรา 31 และ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 242,244 จึงได้ร่วมกันตรวจยึดของกลางทั้งหมดและจับกุมเจ้าของกระเป๋าดังกล่าว นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนสัตว์ของกลางได้นำส่ง กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าเพื่อดูแลรักษาต่อไป
นายประเสริฐกล่าวต่อว่า จากการจับกุมดังกล่าวทั้ง 2 คดี ในเวลาใกล้กันทำให้เห็นว่าเมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น ก็มีการเริ่มเดินทางกันมากขึ้นยังทำให้การลักลอบค้าสัตว์ป่ามากขึ้นอีกทั้งยังมีมูลค่าค่อนข้างสูง ซึ่งของกลางเต่ามีชีวิตที่ตรวจยึดได้ในครั้งนี้มีมูลค่าสูงตัวละประมาณ 10,000 บาท ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็ได้ตระหนักและมีมาตรการเข้มข้นมากขึ้นซึ่งสัตว์ดังกล่าวสามารถลักลอบขนย้ายผ่านทางสายการบินได้ แต่ก็ถือว่าโชคดีที่ได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะศุลกากรในการตรวจสอบสิ่งมีชีวิตที่ซ่อนอยู่ในกระเป๋าผ่านเอกซเรย์ โดยจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบให้มากยิ่งขึ้นและต้องดูเส้นทางว่าส่งมาจากประเทศต้นทางคืออะไรซึ่งแต่ละประเทศก็มีหน่วยงานไซเตสอยู่โดยจะได้หาแนวทางป้องกันร่วมกันต่อไป โดยยังได้กล่าวย้ำว่า การเลี้ยงสัตว์ต่างประเทศในขณะนี้ยังถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่จะต้องมีการแจ้งส่งออกและแจ้งนำเข้าประเทศตามบัญชีไซเตสให้ถูกต้องตามระเบียบ แต่ที่ยังมีการลักลอบนำเข้านั้นอาจจะเป็นเพราะที่มาของสัตว์ต่างๆ ไม่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ที่ถูกต้อง หรืออาจจะเป็นสัตว์ตามธรรมชาติของประเทศนั้นๆ
ด้าน สพ.ญ.ธชพรรณ ลีลาพตะ สัตวแพทย์กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า ได้รับมอบของกลางดังกล่าว ซึ่งจะต้องตรวจดูสุขภาพเต่าทั้งหมดเป็นอันดับแรก ซึ่งจะต้องนำมาแช่น้ำอุ่นผสมกับพวกวิตามินเพื่อรักษาอุณหภูมิ และต้องระวังเรื่องการขาดน้ำเพราะว่าเต่าถูกขนส่งมาค่อนข้างนานอาจจะเกิดการขาดน้ำ และสังเกตอาการว่า มีความปิดปกติหรือไม่ ซึ่งพบว่าเต่าทุกตัวมีการตอบสนองดี โดยอาจจะต้องดูแลสุขภาพไปสักระยะ เพื่อให้ปรับสภาพสภาพให้ดีขึ้นก่อนที่จะส่งต่อไปยังสถานีเพาะเลี้ยงหรือศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าต่อไป.-สำนักข่าวไทย