บ้านราชวิถี 28 มี.ค.-องค์กรสตรี เรียกร้อง พม.ตื่นตัวออกมาตรการป้องกันปัญหาการลวนลามในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หลังผลสำรวจพบกว่าร้อยละ 51 เคยถูกฉวยโอกาส ถูกลวนลามคุกคามทางเพศ
ที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นายจะเด็จ เชาวน์วิไล มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) แกนนำผู้หญิง พ่อแม่ผู้ปกครอง กว่า30คน เข้าพบนายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ให้ออกมาตรการป้องกันปัญหาการถูกลวนลาม คุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์
นายจะเด็จ กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์มักเกิดปัญหาการละเมิดสิทธิ ลวนลาม คุกคามทางเพศ โดยเฉพาะพื้นที่เล่นน้ำที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจากผลสำรวจทัศนคติผู้หญิงไทยต่อเทศกาลสงกรานต์ ปี 2559 โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง 1,793 ราย อายุระหว่าง 10-40 ปี พบว่าเกือบทั้งหมดหรือร้อยละ 85.9 เห็นว่าไม่ควรมีการฉวยโอกาสลวนลามในช่วงสงกรานต์และควรมีมาตรการควบคุมป้องกัน
ขณะที่กว่าร้อยละ 51.9 เคยถูกฉวยโอกาสถูกลวนลามคุกคามทางเพศมา แล้ว เหตุการณ์ที่เจอบ่อยที่สุด คือถูกฉวยโอกาสคุกคามทางเพศ ตามด้วยถูกก่อกวนจากคนเมาสุรา บังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัญหาการทะเลาะวิวาท ซึ่งปัจจัยกระตุ้นสำคัญ มาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น มูลนิธิและภาคีเครือข่ายจึงมีข้อเสนอต่อกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลแก้ปัญหาโดยตรง ดังนี้
1.เร่งรณรงค์ยุติการลวนลามคุกคามทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยการประชาสัมพันธ์กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกำหนดให้มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์เพื่อการระงับเหตุและบังคับใช้กฎหมายได้ทันท่วงที
2.บูรณาการความร่วมมือกับส่วนราชการอื่นๆ สร้างความตระหนักและร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่
3.ให้ความสำคัญในปัญหาอันเกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจัยร่วมสำคัญต่อการคุกคามทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว จึงควรป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ต้นตอสำคัญ และ4.มูลนิธิ และภาคีเครือข่ายงดเหล้าทุกจังหวัด ยินดีร่วมมือกับกระทรวงฯ ในการรณรงค์ เฝ้าระวังและแจ้งเหตุ เพื่อลดปัญหาดังกล่าว
ขณะที่นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวกระทรวงพยายามแก้ไขและป้องกันมาตลอด ทั้งการขับเคลื่อนนโยบาย ผลักดันให้เกิดมาตรการ กลไกและกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ความเท่าเทียม ที่ช่วยแก้ ปัญหาการถูกคุกคามทางเพศโดยตรง สำหรับข้อเสนอของมูลนิธิและภาคีเครือข่ายนั้น เป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐและภาคประชาสัมคม จะได้ทำงานร่วมกันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด โดยจะนำข้อเสนอที่ได้รับวันนี้ มอบให้ รมว.พัฒนาสังคมฯ เพื่อพิจารณากำหนดเป็นนโยบายต่อไป
พร้อมยืนยันปัญหาการคุกคามทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นปัญหาที่กระทรวงให้ความสำคัญและพยายามรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ทุกปีได้ประสานไปยังพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ในการลงพื้นที่ตรวจตราดูแลความสงบเรียบร้อย และมีสายด่วน 1300 คอยให้ บริการรับเรื่องร้องเรียนที่มีทีมเจ้าหน้าพร้อมช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมงด้วย .-สำนักข่าวไทย