ทำเนียบรัฐบาล 14 มิ.ย.- นายกฯ ยืนยันเข้าใจปัญหาความเดือดร้อนประชาชน สั่งออกมาตรการแก้ปัญหาต่อเนื่อง ยอมรับปัญหาราคาน้ำมันยังอยู่อีกนาน หากสถานการณ์สงครามยืดเยื้อ พร้อมสั่งคมนาคมจัดหาคนขับรถและคนเก็บตั๋วรถเมล์เพิ่มเติม
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่ารัฐบาลเดินหน้าทำงานหนัก เพื่อแก้ปัญหาปากท้อง ความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งจากวิกฤตของโลกที่เกิดขึ้น ทั้งจากปัญหาสงครามยูเครน-รัสเซีย ปัญหาเงินเฟ้อ เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการติดตามสถานการณ์และเตรียมมาตรการแก้ปัญหาต่อเนื่อง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ได้มีการสั่งการให้มีการติดตามเรื่องพลังงาน ปัญหาราคาสินค้าแพงทุกวัน พบว่า มีรายการอาหารบางสินค้ามีการขึ้นราคา ซึ่งอยู่นอกเหนือสินค้าที่ได้มีการควบคุมราคาไว้ จึงอยากขอความร่วมมือให้ช่วยกัน เพราะได้รับผลกระทบทุกคน พร้อมยืนยันว่า เข้าใจสถานการณ์เป็นอย่างดี และจะพยายามบริหารทุกอย่างให้ดีที่สุด
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ข้อเสนอในการคุมเพดานค่าการกลั่น เพื่อควบคุมราคาพลังงาน ว่า สิ่งแรกอยากให้มีการเปรียบเทียบราคาพลังงานของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีความแตกต่างมากน้อยเพียงใด และไทยมีต้นทุนน้ำมันดิบมากน้อยเพียงใด ซึ่งอยู่ระหว่างการหาแหล่งพลังงานให้เพิ่มขึ้น ทั้งจากบนบกหรือทางทะเลได้หรือไม่
ทั้งนี้เรื่องค่าการกลั่น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้มีการชี้แจงในที่ประชุม ครม. ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตุว่า ค่าการกลั่นขึ้นมา 8 บาท แต่ยังไม่ได้รับคำตอบชัดเจนว่า ค่าการกลั่นอยู่ที่เท่าไหร่ โดยทางกระทรวงพลังงานจะชี้แจงอีกครั้ง
“วันนี้ใน 8 บาทที่ว่า ถ้าลดไป 5 บาท ราคาน้ำมันจะลดลงไป 5 บาทเลยหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น เพราะมีกฎหมายควบคุมและคุ้มครองผู้ประกอบการด้วย ซึ่งมีธุรกิจหลายอย่างเกี่ยวเนื่องกัน…ก็ต้องพยายามหาวิธีการที่เหมาะสม เราต้องอยู่สถานการณ์แบบนี้ไปนานพอสมควร ถ้าสถานการณ์ต่างประเทศยังเป็นแบบนี้อยู่ เพราะเราอยู่ในห่วงโซ่ของเขาทั้งหมด” พลเอกประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติเดินหน้าโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากหลังโควิด ด้วยเศรษฐกิจบีซีจี ครอบคลุมพื้นที่ 7,435 ตำบลใน 77 จังหวัด มีกิจกรรมบีซีจีมากกว่า 15,000 กิจกรรม ทำให้เกิดการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่ มากกว่า 7 หมื่นคน เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจมากกว่า 600 ล้านบาทต่อเดือน โดยมีโครงการเริ่มทันทีในเดือนกรกฎาคม
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การขาดแคลนคนขับรถโดยสารประจำทาง และคนเก็บตั๋วค่าโดยสารของ ขสมก. ว่าได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมหาแนวทางแก้ปัญหา ไม่เช่นนั้นจะไม่มีรถเพียงพอต่อการให้บริการ และเนื่องจากรถโดยสารประจำทางรุ่นใหม่ยังเข้ามาไม่เต็มที่ จึงอยากให้มีการจ้างเป็นการชั่วคราวไปก่อน เพราะในอนาคตเมื่อเปลี่ยนเป็นรถรุ่นใหม่จะใช้บุคลากรไม่มาก นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา เป็นช่องทางยกระดับ 4 ช่องจราจร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติที่ครบวงจร รวมถึงมีการอนุมัติงบประมาณปรับปรุงซ่อมแซมถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เสียหายจากอุทกภัย 625 แห่ง รวม 889 โครงการ ใน 40 จังหวัด วงเงินรวม 2.2 พันล้านบาทรวมถึงมีการขยายศักยภาพในการให้บริการและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ มูลค่า 3,522 ล้านบาท เพิ่มอีก 1,000 เตียง ที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 4 แสนคนต่อปี.-สำนักข่าวไทย