ทำเนียบรัฐบาล 12 มิ.ย. – “สุพัฒนพงษ์” คุยปรับสูตรทั้งค่าการกลั่นและโรงแยกก๊าซฯ นำเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตอนนี้มีข้อสรุปแล้ว การลดค่าการกลั่นจะไปในทางใด หลังจากได้หารือกันหลายฝ่าย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยดูจากอำนาจฐานของกฎหมายของแต่ละหน่วยงานที่จะมีการกำกับดูแล ซึ่งทาง สคบ. บอกว่า อำนาจไปได้ไม่ถึง และถ้าจะทำต้องใช้เวลานาน ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ อำนาจก็อยู่ในระดับราคาที่ประกาศหน้าสถานีบริการตามกฎหมายชั่งตวงวัด จึงอยากให้กระทรวงพลังงานใช้อำนาจตามฐานกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งเมื่อกลับมาดูก็พอจะมีช่องทางอยู่บ้าง แต่ต้องใช้เวลา ซึ่งคิดว่าไม่นานจะได้ข้อสรุป
“อะไรที่กำไรเกินจุดค่าเฉลี่ยแล้ว มันก็พึงจะต้องลด หรือปันส่วนหนึ่งมาเป็นเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เราจะวิ่งอ้อมหน่อยนึง เนื่องจากกระทรวงพลังงานไม่มีฐานอำนาจในการกำหนดราคา เพราะเป็นกลไกตลาดเสรี แต่เรามีฐานอำนาจเก็บเงิน (ค่าหน้าโรงกลั่น) เข้ากองทุนน้ำมันฯ แล้วเอาเงินก้อนนี้มาเป็นส่วนลดให้กับราคาน้ำมันบางประเภทได้” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การเรียกเก็บเงินโรงกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันฯ จะเป็นเงินเท่าไหร่ อย่างไร ก็ต้องดูให้เหมาะสมด้วย โดยกฤษฎีกาและอัยการจะไปดู และต้องยืนยันกลับมาว่าสามารถทำได้ทันทีหรือไม่ เพราะมีข้อสัญญาระหว่างกระทรวงฯ สัญญาโรงกลั่นในอดีต ต้องไปดูอีกว่า มีข้อตกลงที่รัฐไปดึงดูดเขามาลงทุน ให้ความมั่นใจอะไรเขาไว้บ้าง ต้องไม่ขัดกับข้อกฎหมายเหล่านั้น วันนี้ไม่มีเพดานค่าหน้าโรงกลั่น เพราะให้เป็นไปตามกลไกตลาดเสรี คาดว่า วันพรุ่งนี้ (14 มิ.ย. 65) จะได้ข้อสรุปสูตรการเก็บค่าการกลั่น โดยมีหลักการว่า ค่าเฉลี่ยในอดีตได้เท่าไหร่ วันนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยพอสมควรก็ควรแบ่งกัน เหมือนในประเทศอังกฤษ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งจะไม่ได้ทำเฉพาะน้ำมัน แต่จะดูถึงราคาก๊าซหุงต้มจากโรงแยกก๊าซฯ ควบคู่ไปด้วย โดยมาตรการใดที่สามารถทำได้เลยก็ทำทันที แต่ถ้าจะต้องนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนก็จะต้องนำเข้า ครม. และต้องถามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อเสนอให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบต่อไป เรื่องเหล่านี้อ่อนไหว กระทบถึงบรรยากาศการลงทุน ต้องดูรอบคอบ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐเข้ามาควบคุมกลไกตลาดเสรีหรือไม่
“อยากให้เอาตัวเลขย้อนหลังเฉลี่ย 5 ปีมาดู จะเห็นว่า เฉลี่ยค่าการกลั่นอยู่ที่ 2-3 บาทกว่าเท่านั้น และช่วงโควิด-19 เหลือไม่ถึงบาท ซึ่งโรงกลั่นทุกโรง ทั้งโลก หยุดการผลิตกันไปเลย หรือไม่ได้เพิ่มกำลังการผลิตเป็นเวลา 2 ปี เพราะไม่คุ้มค่าที่เขาจะไปทำ แล้วอยู่ดี ๆ ดีมานด์มันขึ้น กำลังการผลิตก็ไม่พอ ราคาก็ขึ้นไป เอาจุดต่ำสุดไปเทียบกับจุดสูงสุดก็เป็นธรรมดา คนก็จะตกใจว่าสูง 8 บาท/ลิตร เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ด้วย ก็เข้าใจการเมือง แต่ต้องให้ประชาชนเข้าใจตรงนี้ก่อน” รมว.พลังงาน ระบุ
ส่วนที่มีข้อเสนอเรื่องออกกฎหมายเก็บภาษีลาภลอย (Windfall tax) นั้น ถ้าทำในรูปของการเก็บภาษี อาจจะต้องแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) ต้องใช้เวลา ไม่ทันสถานการณ์ ต้องเข้าสภาฯ เหมือนประเทศอังกฤษ ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเราได้คุยเรื่องนี้กันมานานแล้ว. – สำนักข่าวไทย