ทำเนียบ 17 พ.ค.- “จุรินทร์“ มองเพื่อไทย ดึงคนเสื้อแดงกลับบ้าน เป็นธรรมดาการหาเสียง เชื่อ ประชาชนตัดสินใจจากบทเรียน บอก ประชาธิปัตย์ มีดีที่นโยบาย-ผลงาน มั่นใจ ฐานเสียงไม่สั่นคลอน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยชูแคมเปญดึงคนเสื้อแดงกลับบ้าน ว่า เป็นธรรมดาที่ทุกพรรคการเมืองต้องหาเสียง ไม่มีพรรคไหนที่ไม่หาเสียง เพราะอย่างน้อยที่สุดแม้สถานการณ์ทางการเมืองจะเดินหน้าไปตามภาวะปกติ ปีหน้าก็ต้องมีการเลือกตั้งทั่วไป รัฐบาลก็อยู่ครบวาระ 4 ปี แต่ละพรรคก็ต้องมีแนวทางในการหาเสียงของตัวเอง ว่าฐานเสียงอยู่ตรงไหน ตนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนประชาชนจะพิจารณาอย่างไร ก็อยู่ที่บทเรียน ในประวัติศาสตร์ ว่าประชาชนติดตามสถานการณ์ทั้งอดีตปัจจุบันและการคาดการณ์ในอนาคตเป็นอย่างไรและสุดท้ายจะนำไปสู่การตัดสินใจ
นายจุรินทร์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ชูนโยบายโชว์ผลงานกับอุดมการณ์ ซึ่งมีความชัดเจนแล้วและตนก็ประกาศว่าอย่างน้อยที่สุด ในภาคใต้พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมา หมายความว่าจะได้รับเสียงการสนับสนุนจากประชาชนภาคใต้อีกวาระหนึ่ง ซึ่งก็น่าจะเช่นเดียวกับประชาชนทั้งประเทศ เพราะในช่วงที่มาร่วมรัฐบาลมีผลงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรที่ดีทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นข้าว มัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด รวมถึงผลไม้ นอกจากนั้น การประกันรายได้เกษตรกรในยามที่พืชผลทางการเกษตรตกต่ำพรรคประชาธิปัตย์ก็มีนโยบาย รวมทั้งการส่งออก การสร้างเงินให้กับประเทศ เป็นจำนวนมหาศาลในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนกรณีที่ขณะนี้มีกระแสพรรคภูมิใจไทยในภาคใต้ได้รับความนิยม อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ประชาธิปัตย์ประเมินอยู่ตลอดเวลาและเชื่อว่าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็มีผู้สมัครเกือบครบทุกพื้นที่แล้ว และนโยบายก็มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนและคนภาคใต้ ก็พอใจกับราคายาง ที่ไม่ใช่ 3 กิโล 100 แต่เป็นกิโลกรัมละ 60 กว่าบาท และขี้ยางอยู่ที่ราคา 25-30 บาท นอกจากนี้ราคาผลไม้ยังมีราคาดี ทุเรียนราคาดีเกรดส่งออกอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท นายจุรินทร์ ยังปฏิเสธแสดงความเห็นถึงกรณีการส่งผู้สมัครลงชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เนื่องจากตนอยู่ในฐานะที่พูดไม่ได้ แม้ว่าอยากจะพูด เนื่องจากกฎหมายบังคับไว้ว่าหัวหน้าพรรคผู้มีตำแหน่งทางการเมืองช่วยหาเสียงไม่ได้จึงเป็นจุดอ่อนที่เกิดจากกฎหมายต้องรอแก้ไข แต่เท่าที่ติดตามทั้งผู้สมัครทั้งสองตำแหน่ง ทำหน้าที่อย่างเต็มที่. สำนักข่าวไทย