กรุงเทพฯ 12 พ.ค.-กทพ.เดินหน้ายกระดับบริการทางด่วน ดีเดย์ ต.ค.นี้ เปิด M-Flow 4 ด่าน มั่นใจช่วยระบายรถ แก้ปัญหาจราจรติดขัดหน้าด่าน นำระบบ AI บริหารจัดการจราจรผ่านป้ายอัจฉริยะ พร้อมเดินหน้าโครงการ ”พระราม 3-ดาวคะนอง” มั่นใจเสร็จปี 2667
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานบอร์ด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงแผนปี 2565 ของทางพิเศษ ว่า นอกจาก กทพ.จะทำหน้าที่สร้างทางพิเศษให้ผู้ใช้ทางแล้ว ปีนี้จะเน้นคอนเซ็ปต์ของผู้ใช้บริการทางพิเศษจากผู้ใช้ทางเป็นผู้รับการบริการ โดยจะคำนึงถึงการให้บริการผู้ใช้ทางได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว ซึ่งปีนี้จะนำระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติที่ไม่มีไม้กั้น หรือ M- Flow มาใช้บนทางพิเศษของ กทพ. ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่ต้องการเข้ามาแก้ไขปัญหารถติดหน้าด่าน
ทั้งนี้ ตามกำหนดจะนำระบบเก็บค่าผ่านทางแบบ M Flow มาใช้บนทางพิเศษ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ทางด่วนฉลองรัช รวม 3 ด่าน ด่านจตุโชติ ด่านสุขาภิบาล 5-1 และ ด่านสุขาภิบาล 5-2 ซึ่งจะเปิดให้บริการเดือน ต.ค.2565 ส่วนระยะที่ 2 ทางพิเศษฉลองรัช บูรพาวิถี และวงแหวนกาญจนาภิเษกฯ รวม 60 ด่าน เปิดให้บริการประมาณปลายปี 2566 และระยะที่ 3 ทางพิเศษ เฉลิมมหานคร ศรีรัช อุดรรัถยา และศรีรัช-วงแหวนรอบนอก รวม 72 ด่าน ซึ่งจะเปิดปลายปี 2567
นอกจากนี้ จะเน้นการนำเทคโนโลยี AI มาบริหารจัดการจราจรบนทางด่วนและบริเวณทางขึ้นและลง ทางพิเศษทุกจุด ทำให้ผู้ใช้ทางพิเศษก่อนจะวิ่งลงทางด่วนสามารถรู้การจราจรข้างหน้าบริเวณทางลงที่จะไปนั้นว่า รถติด หรือไม่ติด เนื่องจากระบบ AI จะจับสัญญาณภาพความหนาแน่นจราจรบริเวณหน้าด่าน บนท้องถนน และแจ้งให้ผู้ใช้ทางทราบผ่านป้ายอัจฉริยะ เป็นระยะ ๆ พร้อมเร่งปรับปรุงห้องน้ำบริเวณทางพิเศษทั้งหมด 18 จุด คาดจะใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท ขณะเดียวกันจะเร่งพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนกว่า 1 ล้านตารางวา รองรับพื้นที่ชุมชนให้เป็นพื้นที่ออกกำลังกาย สันทนาการ รวมถึงเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์กับหน่วยงานราชการ โรงพยาบาล และเป็นแหล่งค้าขายในชุมชน
ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทางรวม 18.7 กิโลเมตรนั้น วงเงินลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาทนั้น กทพ.ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.2562 ขณะนี้ภาพรวมการก่อสร้างเร็วกกว่าแผน คาดจะเสร็จพร้อมเปิดให้บริการปี 2567
สำหรับโครงการฯ มีจุดเริ่มต้นที่ กม. 13+000 บนถนนพระราม 2 ก่อสร้างซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระราม 2 ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงดาวคะนอง จากนั้นแนวเส้นทางจะเบนไปทางขวาเข้าซ้อนทับกับทางพิเศษเฉลิมมหานครและข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 9 โดยจะก่อสร้างสะพานขึงขนาด 8 ช่องจราจร ขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9 จากนั้นแนวเส้นทางจะเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษเฉลิมมหานครบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการฯ โครงการฯ มีทางขึ้น-ลงจำนวน 7 แห่ง
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการโครงการแบ่งออกเป็น 5 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1-4 เป็นงานโยธา และสัญญาที่ 5 เป็นงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทางและระบบควบคุมการจราจรและระบบสื่อสาร ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงร่างขอบเขตของงานจ้างก่อสร้างให้ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางเป็นระบบ M-Flow บริเวณตู้เก็บค่าผ่านทาง ซึ่งเป็นระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยระบายการจราจรหน้าด่านฯ ได้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งสอดคล้องและสามารถเชื่อมต่อกับระบบจัดเก็บค่าผ่านทางของโครงการทางยกระดับบนถนนทางหลวงหมายเลข 35 ของกรมทางหลวงในอนาคต
ทั้งนี้ ปีนี้ กทพ.จะเร่งดำเนินการโครงการทางพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทางรวม 3.98 กม. รูปแบบการลงทุน PPP Net Cost ระยะเวลาสัญญารวม 35 ปี มูลค่าลงทุนรวม 14,470 ล้านบาท คาดว่าประกาศเชิญชวน/ขาย RFP พ.ย. 2565,เอกชนยื่นข้อเสนอ มี.ค. 2566 หลังจากได้ผู้ดำเนินการ กระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม. เห็นชอบ ลงนามสัญญา ต.ค. – พ.ย. 2566 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน ธ.ค. 2566 และเปิดให้บริการ ธ.ค. 2570
นายสรพงศ์ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรทางฝั่งตะวันออกของ กทม. และปริมณฑลและเพิ่มศักยภาพโครงข่ายทางด่วนเชื่อมต่อถนนวงแหวนรอบที่ 3 อย่างสมบูรณ์ ในการประชุมบอร์ด กทพ. วันที่ 24 พ.ค.นี้ ฝ่ายบริหาร กทพ.จะเสนอขออนุมัติดำเนินการในโครงการ ทางพิเศษสายฉลองรัช – นครนายก-สระบุรี ระยะที่ 1 (ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา) ระยะทางรวม 16.21 กม. มูลค่าค่าลงทุนรวม 24,060 ล้านบาท
เส้นทางจะเริ่มต้นเชื่อมทางพิเศษฉลองรัช บริเวณด่านจตุโชติ ข้าม ถ.วงแหวนกาญจนาภิเษก (M9) ข้าม ถ.หทัยราษฎร์ สิ้นสุดที่ ถ.ลำลูกกา ระหว่างคลอง 9 กับคลอง 10 ส่วนรูปแบบลงทุนแบบ PSC (รัฐลงทุน) โดย กทพ. บริหารจัดการ รวมเก็บค่าผ่านทางเองทั้งหมด ซึ่งขั้นตอนหลังบอร์ด กทพ.อนุมัติ จะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม และเสนอขออนุมัติจาก ครม. ไม่เกิน ส.ค. 2565 และคาดว่าจะเริ่มประกวดราคา ในช่วง ก.ย. 2565-มิ.ย.2566 เริ่มก่อสร้าง ก.ค.2567 และเปิดให้บริการได้ในเดือน ก.ค.2570.-สำนักข่าวไทย