รพ.นพรัตน์ฯ 25 มี.ค.- อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดงานสถาปนา รพ.นพรัตน์ฯ ครบ 40 ปี พร้อมเปิดศูนย์ศัลยกรรมหัวใจและหลอดเลือด เพื่อบริการคน กทม.ตะวันออก ส่วนกรณีดารานอนเสียชีวิตปริศนา ชี้อย่าเพิ่งสรุปควรรอผลชันสูตร
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเปิดงานวันสถาปนาโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ครบรอบ 40 ปี และเปิดศูนย์ศัลยกรรมหัวใจและหลอดเลือด ว่า การเปิดศูนย์ศัลยกรรมหัวใจเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ ให้กับโรงบาลฝั่งตะวันออกของกรุงเทพเนื่องจากที่ผ่านมาหากมีผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเดิมต้องส่งตัวเข้ารักษาในเมืองทั้งโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ เช่น โรงพยาบาลราชวิถีหรือโรงเรียนแพทย์ แต่จากนี้สามารถดำเนินการสวนหัวใจและผ่าตัดรักษาได้ที่โรงพยาบาลนพรัตน์ฯ โดยสถิติแต่ละปีมีผู้ป่วยมาขอรับการรักษาด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่โรงพยาบาลนพรัตน์ฯเฉลี่ย 500 ถึง 700 คน พร้อมย้ำชั่วโมงทองของการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจอยู่ในรอบ 120 นาทีผู้ป่วยต้องรับยาละลายลิมเลือดหรือดำเนินการสวนหัวใจเพื่อให้ร่างกายกลับมาฟื้นฟูปกติโดยเร็ว
นพ.สมศักดิ์ ยังกล่าวว่า สำหรับกรณีนักแสดงวัยรุ่นชายเสียชีวิตอย่างกระทันหันขณะหลับนั้นยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับไหลตาย หรือ โรคหัวใจหรือไม่ ต้องรอการชันสูตรที่ชัดเจนเสียก่อนโดยโรคหัวใจบางคนเป็นโดยไม่รู้ตัวหรือบางคนรู้ตัวเช่นอดีต โรคเนื้อหัวใจขาดเลือด ที่เกิดกับ อดีตรัฐมนตรีท่านหนึ่ง (นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ) ก็เกิดขึ้นขณะหลับเพราะเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ไม่ใช่โรคไหลตายอย่างที่หลายคนเข้าใจบางคนมีประวัติการป่วยด้วยโรคหัวใจหรือบางคนไม่มีแต่อาจมีอาการเข้าข่ายเช่นหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ดังนั้นต้องรอความชัดเจน ในส่วนคนที่เป็นโรคหัวใจนอนลำพังและไม่มีคนร่วมสังเกตุ หากมีอาการก็อาจช่วยชีวิตกู้วิกฤติไม่ทัน
นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่า การเสียชีวิตขณะนอนหลับไม่ได้มีแค่โรคไหลตาย ยังมีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) หรือภาวะผนังหัวใจหนา และหัวใจกำเริบเฉียบพลัน โดยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน พบได้ในทุกช่วงอายุแต่พบบ่อยในผู้ใหญ่วัยกลางคน ที่มีอายุระหว่าง 30-40 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2 เท่า สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ และทุกเวลามักจะพบได้บ่อยใน ขณะออกกำลังกาย โดยไม่มีสัญญาณเตือน แตกต่างจากภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) ซึ่งมักจะหมายถึงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยทั่วไปจะมีสัญญาณเตือนนำมาก่อนเช่น เจ็บแน่นหน้าอก เหงื่อแตก ใจสั่นหายใจไม่อิ่ม แต่อย่างไรก็ดีการเกิดภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) อาจนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest)ได้ โรคไหลตาย สามารถรับรู้ได้ด้วยการตรวจยีนส์ หรือตรวจ คลื่นหัวใจก็สามารถแสดงผลออกมาได้.-สำนักข่าวไทย