กรุงเทพฯ 4 มี.ค. – กรมอุตุฯ ประกาศเตือนจะเกิดพายุฤดูร้อน 6-8 มี.ค.นี้ ส่วนผู้อำนวยการ สสน. ระบุพายุฤดูร้อนปีนี้เกิดเร็วตั้งแต่ต้นฤดูร้อน พร้อมเตือนอาจมีลมกระโชกแรง ทำให้สิ่งก่อสร้างที่ไม่มั่นคงเสียหายจนเกิดอันตรายได้ ด้านอธิบดีกรมชลประทานระบุสั่งรับมือฝนที่จะตกเพิ่มขึ้นจากพายุฤดูร้อน โดยเฉพาะภาคใต้ซึ่งอาจมีฝนตกซ้ำอีก
กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเรื่องพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทย ฉบับที่ 1 โดยระบุว่า ในช่วงวันที่ 6-8 มีนาคม 2565 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นด้วย โดยจะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนภาคใต้ตอนบน จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กล่าวว่า ขณะนี้ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยบน แล้วจะมีบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากจีนแผ่ลงมาปะทะทำให้เกิดพายุฤดูร้อน ซึ่งปีนี้เกิดเร็วตั้งแต่ต้นฤดู โดยกรมอุตุนิยมวิทยาเพิ่งประกาศเข้าสู่ฤดูร้อนเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมสินค้าหอบความชื้นเข้ามาเป็นปัจจัยเสริมจึงอาจเป็นผลให้เกิดพายุฤดูร้อนหลายครั้งในปีนี้
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ลมที่กระโชกแรงอาจพัดทำให้สิ่งก่อสร้างที่ไม่มั่นคงเสียหายได้ เช่น เพิงร้านค้า หลังคา นั่งร้านในโครงการก่อสร้างต่างๆ หากเป็นไปได้ควรเสริมให้แข็งแรงแบบกึ่งถาวร รวมทั้งต้องระวังต้นไม้ล้ม จึงไม่ควรคิดว่าลมที่พัดแรงเป็นเรื่องชั่วคราวเพราะนอกจากสิ่งของ สิ่งปลูกสร้าง และต้นไม้จะเสียหายแล้ว อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้คนได้รับอันตรายได้
ดร. สุทัศน์กล่าวต่อว่า ฝนจะเริ่มตกตั้งแต่เช้าวันที่ 7 มี.ค. ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเคลื่อนตัวลงมาภาคกลาง กรุงเทพฯ จนถึงภาคใต้ตอนบน โดยตกต่อเนื่องถึงวันที่ 8 มี.ค. ลักษณะเป็นฝนตกหนัก ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงจึงต้องเฝ้าระวังผลกระทบช่วง 2 วันนี้อย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นยังต้องเฝ้าระวังฝนที่จะตกเพิ่มขึ้นในภาคใต้เนื่องจากมีลมตะวันออกแรงขึ้น โดยอาจตกซ้ำในพื้นที่น้ำท่วม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวังฝนที่จะตกเพิ่มขึ้นจากพายุฤดูร้อน โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งเพิ่งเกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมากรมชลประทานระดมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักรกลต่างๆ เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ให้ทุกหน่วยงานเข้าไปช่วยเหลือประชาชน
สำหรับที่จังหวัดนราธิวาส โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางนราได้ควบคุมการระบายน้ำผ่านอาคารชลประทาน ด้วยการเปิด-ปิดบานประตูระบายน้ำตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขัง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 11 เครื่อง เครื่องสูบน้ำด้วยระบบ Hydro Flow 4 เครื่อง รวมทั้งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำอีก 4 เครื่องเพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด
ส่วนที่จังหวัดปัตตานี แม่น้ำปัตตานีมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงมีน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งบางแห่ง สำนักงานชลประทานที่ 17 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ขนาด 8 นิ้ว บริเวณโรงพยาบาลหนองจิก อ.หนองจิก เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม สถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววัน ดังนั้น การที่อาจมีฝนตกลงมาซ้ำในพื้นที่ช่วงเกิดพายุฤดูร้อน ทุกโครงการชลประทานจึงต้องเฝ้าระวังและบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด.-สำนักข่าวไทย