ทำเนียบ 17 มี.ค.-นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) แจ้งกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีจากนักการเมือง ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เสียภาษีไม่ถูกต้อง เข้าข่ายการหลีกเลี่ยงภาษีประมาณ 60 คน ว่าได้รับรายงานแล้ว แต่เท่าที่ทราบมีนักการเมืองที่เข้าขายเลี่ยงภาษี ประมาณ 20-30 คน ไม่ใช่ 60 คน และยังไม่เห็นรายชื่อว่ามีใครบ้าง โดยแจ้งระหว่างที่มีการประชุมกรณีเรียกเก็บภาษีของนายทักษิณ และหากจะการดำเนินการเรียกเก็บภาษีก็จะต้องใช้มาตรฐานเดียวกันกับกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนบรรทัดฐานว่าใครจะถูกหรือผิด อยู่ที่ศาลจะตัดสิน ซึ่งการดำเนินการจะเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติไม่ใช้มาตรา 44 และไม่อยากให้นำไปโยงกับการสร้างความปรองดองที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ เพราะเป็นคนละเรื่องกันและไม่อยากให้เอาเรื่องนี้มาต่อรองกับเรื่องสร้างความปรองดอง
“เรื่องนี้เรารู้อยู่แล้วก่อนจะทำว่าเป็นเรื่องที่พูดในสังคมว่าหากรัฐบาลไม่ทำอะไรเลยปล่อยให้กระบวนการหมดอายุความรัฐบาลก็จะโดยฟ้องมาตรา 157 ละเว้นปฎิบัติหน้าที่ แต่หากทำการเก็บภาษีก็จะโดนกล่าวหาเลือกปฎิบัติไล่บี้ทำอยู่ฝ่ายเดียว คนคนเดียว ได้ไป 4.7ล้านบาทไม่พอยังจะเอาอีก เราจึงไม่หลวมตัวออกมาตรา 44 แต่ให้ว่าตามกระบวนการปกติ เพราะเรื่องนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองตัดสินแล้วการซื้อขายหุ้นผิดกฎหมายดังนั้นจึงต้องทำตามกฎหมายและการเรียกเก็บภาษีก็ต้องดำเนินการแต่แม้เป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็มีกฎหมายกำหนดไว้ เหมือนคนไปขโมยของเมื่อศาลตัดสินให้มีโทษจำคุก 10 ปี หรือตลอดชีวิตแล้ว แต่ก็ต้องไล่บี้เอาทรัพย์สินคืน ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับศาลที่จะเป็นผู้ตัดสิน”นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า การเรียกเก็บภาษีกับอดีตนายกรัฐมนตรี นอกจากกระบวนการของสรรพากรแล้ว ยังมีกระบวนการของหน่วยงานอื่นดำเนินการควบคู่กันไปด้วย แต่ไม่ขอเปิดเผย เพราะเกรงจะเสียรูปคดี พร้อมย้ำว่า การดำเนินการของรัฐบาล เนื่องจากสังคมตั้งข้อสังเกต หากรัฐบาลไม่ดำเนินการจะถูกกล่าวหา ว่าปล่อยปละละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ได้ และหากศาลตัดสินว่าอดีตนายกรัฐมนตรี จะต้องจ่ายภาษี แต่ทรัพย์สินส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ ก็ต้องไปพิสูจน์กันว่าทรัพย์สินที่โอนให้บุตรก่อน หรือหลังจากถูกฟ้องร้องดำเนินคดีภายใน 1 ปีหรือไม่ หากพิสูจน์ได้ ก็สามารถนำกลับมา เพื่อจ่ายภาษีให้กรมสรรพากรได้
“การเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจะต้องเรียกเก็บกับเจ้าตัว เพราะถือเป็นความผิดต่อบุคคล แต่ยอมรับว่าการตามทรัพย์สินของนายทักษิณในต่างประเทศทำได้ยาก เพราะติดข้อกฎหมาย ดังนั้นต้องดูว่าทรัพย์สินมีทรัพย์สินของนายทักษิณอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ หรือมีทรัพย์สินที่ยักย้ายถ่ายเทจำหน่ายไปยังบุคคลอื่นหรือไม่ถ้าสืบตรวจสอบพบก็สามารถที่จะเรียกเก็บได้ เหมือนกฎหมายล้มละลายผู้ที่ถูกฟ้องล้มละลายคือไม่มีทรัพย์สินติดตัว แต่ถ้าลูก ภรรยา ญาติพี่น้องมี และสืบทราบว่าเป็นการยักย้ายถ่านโอนให้ 1 ปีก่อนถูกศาลมีคำสั่งก็สามารถยึดเอาทรัพย์สินส่วนนั้นมาได้”นายวิษณุกล่าว.-สำนักข่าวไทย