กรุงเทพฯ 8 ม.ค. – นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้สั่งการมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ หาแนวทางติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชทั้งระยะสั้น กลาง และระยะยาว โดยในส่วนของกรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชหลายโครงการ อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการบรรเทาปัญหาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช
สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่นครศรีธรรมราชระยะยาวนั้น ได้มีการศึกษาและวิเคราะห์เบื้องต้นโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งได้พิจารณาครอบคลุมด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โครงการดังกล่าวมีแนวทางแก้ไขปัญหารูปแบบใหม่ที่มองการแก้ไขแบบบูรณาการในเชิงพื้นที่ (Area Base) โดยใช้วิธีการแก้ไขหลายรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และภูมิประเทศ และมีองค์ประกอบแนวทางการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1.กลุ่มโครงการตัดยอดน้ำก่อนเข้าเมือง ได้แก่ การขุดคลองระบายน้ำ 3 สาย พร้อมขยายสะพานรถยนต์และสะพานรถไฟ การปรับปรุงคลองธรรมชาติ 3 สาย ได้แก่ คลองหยวด คลองวังวัวและคลองตรุด รวมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำ 6 แห่ง และ 2. กลุ่มโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำในเมือง อาทิ สร้างเขื่อนริมตลิ่งคลอง และการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในเขตเทศบาลนครศรีธรรมราช โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการเร่งระบายแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองนครศรีธรรมราช
สำหรับความก้าวหน้าของการดำเนินการในปัจจุบัน กรมชลประทานได้ดำเนินการออกแบบโครงการดังกล่าวเสร็จและพร้อมเสนอขออนุมัติโครงการต่อคณะรัฐมนตรีและหากได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ก็จะเริ่มดำเนินการตามผลการศึกษาได้ภายในปี 2561 เมื่อเสร็จทั้งโครงการจะสามารถช่วยระบายน้ำออกสู่ทะเลได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราชในรอบ 25 ปีได้ นอกจากนี้ คลองระบายน้ำที่ขุดขึ้นใหม่และคลองธรรมชาติที่ได้รับการปรับปรุงจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุน ซึ่งเก็บกักน้ำได้ถึง 5 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรมได้ถึง 17,400 ไร่ .-สำนักข่าวไทย