กรุงเทพฯ 9 ม.ค. – นายวิษณุ ทับเที่ยง โฆษกและผู้อำนวยการกองบริหารยุทธศาสตร์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว อยู่ระหว่างประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเร็ว ๆ นี้ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายประมาณไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งตาม พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่กำหนดให้ผู้ที่จะทำเหมืองแร่โดยเฉพาะเหมืองขนาดใหญ่ เช่น โปแตช จะต้องมีการจัดทำการศึกษาข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนเอาไว้ก่อน จึงจะเริ่มต้นทำเหมืองแร่ได้ ทั้งนี้ เพื่อรองรับกรณีอาจจะมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทำเหมืองขนาดใหญ่และเหมืองแร่บางชนิด
นอกจากนี้ กพร.ยังส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีรีไซเคิลหรือการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการทำเหมืองในเมือง โดยจะเน้นสนับสนุนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรียุธยาและชลบุรี โดยเน้นแร่ 8 ชนิด ที่จะนำกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตมารีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมทั้งมีนโยบายที่จะช่วยอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการเหมืองแร่ไทยในการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านตามข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยลงทุนในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม หรือ CLMV
ทั้งนี้ กพร.จะประสานและนำภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ไปเจรจากับหน่วยงานรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านที่เกี่ยวข้องด้านเหมืองแร่ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการไทยศึกษาที่จะเข้าไปลงทุนทำเหมืองแร่ โดยเฉพาะประเทศเมียนมาร์มีโอกาสทำเหมืองแร่ดีบุกมาก ปัจจุบันมีเอกชนไทยเข้าไปทำเหมืองแร่แล้ว 1 ราย คือ บริษัท พงษ์พิพัฒน์ไมนิ่ง และแสดงความสนใจอีก 3-4 ราย ที่จะเข้าไปลงทุนในทวาย และยังมีโอกาสทำเหมือแร่ทังสเทน พรวง แทนทาลั่ม ถ่านหินซับบิทูมินัส ตามแนวชายแดนเมียนมาร์ที่ติดกับประจวบคีรีขันธ์ รัฐฉาน ส่วน สปป.ลาว มีโอกาสเข้าไปทำเหมืองถ่านหินซับบิทูมินัส ดีบุก เหล็ก และหินปูนเพื่อผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่ง scg เข้าไปลงทุนแล้ว อาจมีรายอื่นสนใจเข้าไปลงทุนอีก
ด้านการพัฒนาการยกระดับการดำเนินงานจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยยกระดับงานบริการอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่ออนุญาตนำเข้า-ส่งออกแร่ได้ การกำกับดูแลการทำเหมืองจะใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนช่วยตรวจสอบ นอกจากนี้ กพร.ยังเดินหน้าโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้มีมาตรฐานสากล เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-DPIM) CSR-DPIM Network การส่งเสริมเหมืองแร่สีเขียว หรือ Green Mining และยังให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย