กรุงเทพฯ 4 ม.ค.-โครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท. พร้อมรับมือโอไมครอน สร้างความมั่นใจประชาชน หนุนประเทศเดินหน้าอย่างปลอดภัย
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการประเมินของกระทรวงสาธารณสุข ต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอนที่เริ่มกระจายตัวในหลายพื้นที่ กลุ่ม ปตท. ยังคงยืนหยัดดำเนิน “โครงการลมหายใจเดียวกัน” ที่กลุ่ม ปตท. ร่วมกับพันธมิตรทางการแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน มีสายด่วนจิตอาสาให้บริการรับสายเรียกเข้าจากผู้ที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเองและผลเป็นบวก เพื่อให้คำแนะนำทันทีและส่งรถพยาบาลรุดให้ความช่วยเหลือถึงบ้าน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1745 และ Line Official Account: ลมหายใจเดียวกันATK โดยสามารถค้นหาด้วยการพิมพ์ @ptt.covid-atk ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า โครงการลมหายใจเดียวกันของกลุ่ม ปตท. ยังเปิดให้บริการอยู่อย่างต่อเนื่องถือเป็นข่าวดี ที่เรายังมีจุดดูแลรักษาประชาชนได้อีกจุดหนึ่งแบบครบวงจร เป็นการเสริมความเชื่อมั่นการป้องกันรักษาโรค อย่างไรก็ดี การป้องกันส่วนบุคคล ยังเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอันดับหนึ่ง คือการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ รักษาระยะห่าง ไม่อยู่ในที่ชุมชนโดยไม่จำเป็น อีกทั้งต้องส่งเสริมการฉีดวัคซีน โดยที่ผ่านมาอาคาร Enter และ เครือโรงพยาบาลปิยะเวทได้ให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนแล้วกว่า 2 ล้านเข็ม ซึ่งการระบาดของโรคระบาดนั้น ถือเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก แต่จะทำอย่างไรไม่ให้รุนแรง โดยโครงการลมหายใจเดียวกันยังพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์
สำหรับโครงการลมหายใจเดียวกัน เป็นการตรวจรักษาแบบครบวงจร “ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว” ทั้งหน่วยคัดกรองผู้ป่วยโควิด 19 ณ อาคาร EnCo Terminal หรือ Enter ถ.วิภาวดีรังสิต ได้ตรวจคัดกรองประชาชนไปแล้วกว่า 65,000 คน รับผู้ป่วยเข้าดูแลรักษาในโครงการกว่า 3,900 คน และจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามพร้อมรองรับ มี Hospitel รองรับผู้ป่วยระดับสีเขียวกว่า 1,000 เตียง โรงพยาบาลสนาม “สีเหลือง” สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการในระดับหนักขึ้น 300 เตียง และ โรงพยาบาลสนาม ICU รองรับผู้ป่วยวิกฤต “สีแดง” จำนวน 120 เตียง อีกทั้งสามารถรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีภาวะโรคไตและต้องฟอกไตด้วย
นับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน กลุ่ม ปตท. ได้สนับสนุนความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในสถานการณ์โควิด 19 รวมเป็นงบประมาณกว่า 1,850 ล้านบาท (ณ ธันวาคม 2564).-สำนักข่าวไทย