กรมคุ้มครองสิทธิฯ 21 ธ.ค. – กรมคุ้มครองสิทธิฯ ประกันพร้อมจ่ายเยียวยาเหยื่อและแพะในคดีอาญา ภายใน 21 วัน หลังเอกสารครบ จากเดิมใช้เวลาถึง 108 วัน
นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการปรับปรุงการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ว่า พ.ร.บ.นี้เป็นเหมือนรัฐได้ทำประกันภัยให้กับประชาชนทุกคน และผู้ที่เข้ามาอยู่ในแผ่นดินไทย หากเกิดเหตุร้าย บาดเจ็บ เสียชีวิต โดยที่ตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง จะมีสิทธิตามกฎหมายขอรับการชดเชยช่วยเหลือได้ ซึ่งตั้งแต่ปี 2565 กรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้ปรับการรับร้องขอเยียวยา โดยไม่ต้องเดินทางมาที่กรมฯ หรือกระทรวงยุติธรรม หรือหน่วยราชการในพื้นที่ แค่เพียงส่งจดหมายหรืออีเมลเหตุร้องขอความช่วยเหลือในคดีอาญา มาที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และได้ปรับระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้รวดเร็วขึ้นจากเดิม หลังได้เอกสารครบ 108 วัน เป็นจ่ายเงินชดเชยภายใน 21 วัน ทั้งนี้ หากเสียชีวิตจะได้ค่าชดเชยตามกฎหมาย 110,000 บาท หากเหยื่อบาดเจ็บ ได้ค่ารักษาตามจริงและค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ และค่าเสียหายอื่นตามแต่กรณี
รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.นี้แบ่งการเยียวยาเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อ เช่น คดีจ่าคลั่งกราดยิงที่โคราช จ่ายเยียวยาเหยื่อ 67 ราย รวม 4,476,386.50 บาท คดีน้องชมพู่ จ่ายเยียวยา รวม 110,000 บาท เป็นต้น และอีกกลุ่มคือ จำเลยในคดีอาญา ที่เป็นแพะติดคุก ทั้งที่ไม่ได้ทำและศาลตัดสินเป็นที่สุดให้ยกฟ้อง ปัจจุบันกรมคุ้มครองสิทธิฯ ใช้งบประมาณรวม 6,000 ล้านบาท เยียวยาแล้วกว่าแสนราย โดยช่วงสถานการณ์โควิด-19 พบตัวเลขการยื่นขอเยียวยาลดลงมาก ใน กทม.พบแค่ร้อยละ 30 ภาพรวมทั้งประเทศมีผู้เสียหายร้องเรียนรวมร้อยละ 60 งบประมาณที่เตรียมไว้จ่ายก็เหลือค้าง ปีนี้เพิ่งจ่ายไป 66 ล้านบาท จากเป้าที่วางไว้และเคยจ่ายเยียวยาประมาณ 100 ล้านบาท/ปี ดังนั้น หากเป็นเหยื่ออาชญากรรม ถูกยิง ถูกแทง ถูกฆ่า ถูกข่มขืน ถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ โดยตนเองไม่เกี่ยวข้อง ขอให้ร้องขอค่าชดเชยตามสิทธิคุ้มครอง โดยสิทธิร้องขอค่าชดเชยต้องร้องภายใน 1 ปี หลังเกิดความเสียหาย. – สำนักข่าวไทย