กรุงเทพฯ 16 ธ.ค.- กรุงไทยคาดปีหน้า กนง.ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อาจขยับขึ้นประเมิน “โอไมครอน” ไม่กระทบเศรษฐกิจไทย ปีหน้าจีดีพี โต 3.8% แนะผู้ประกอบการปรับตัวรับแนวคิด “GROWTH” ติดสปีดให้เศรษฐกิจไทย
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทยคาดเศรษฐกิจไทย ปี 2565 จีดีพี เติบโต 3.8% สูงกว่าปี 2564 ที่โตเพียง 1.0% โดยคาดว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ “โอไมครอน” จะไม่กระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและไทยมากนัก แต่หากผิดคาดกระทบทั่วโลก ก็อาจจะมีผลให้จีดีพีไทยโตประมาณ 3.4 %
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะกลับเข้าสู่เส้นทางของการฟื้นตัว หรือ “Recovery Path” ชัดเจนขึ้น การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรในสัดส่วนที่สูงขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงการปรับพฤติกรรมของคนให้สามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 จะช่วยรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ส่งออกไทยโตได้ต่อเนื่อง ด้านอุปสงค์ในประเทศของไทยคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ฟื้นตัวเป็นลำดับนับตั้งแต่ไตรมาสที่สี่ของปี 2564 อย่างไรก็ดี มีหลายปัจจัยท้าทายที่ทำให้การกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ของเศรษฐกิจไทยต้องล่าช้าไปเป็นปี 2566
“แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากปีก่อน แต่ก็เป็นการเติบโตหลังจากที่เศรษฐกิจต้องสะดุดลงจากการแพร่ระบาดใหญ่ มีความเปราะบางทั้งจากการฟื้นตัวที่ไม่พร้อมเพรียงกัน (K-Shaped Recovery) และปริมาณหนี้ในระดับสูง ทำให้เศรษฐกิจไทยจะยังไม่กลับเข้าสู่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 และยังต้องอาศัยการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังเพื่อช่วยสร้างโมเมนตัม”
นายมานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการลงเม็ดเงินเยียวยาเศรษฐกิจเพิ่มเติมใน 3 มิติหลัก ได้แก่ “กลบหลุมเดิม-เติมกำลังซื้อ-รื้อโครงสร้างธุรกิจ” เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการขาดหายรายได้ของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการจ้างงานแรงงานในภาคบริการที่คาดว่าจะยังฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มอื่น รวมไปถึงการผสมผสานมาตรการที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในรูปแบบของการช่วยออกค่าใช้จ่าย หรือ Co-payment ที่มี Multiplier กับเศรษฐกิจสูง ตลอดจนการช่วยเหลือและเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจสามารถรองรับความเสี่ยง และแข่งขันได้ในยุค New Normal ด้านนโยบายการเงินคาดว่าจะอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ให้สัญญาณที่ชัดเจนว่าจะใช้นโยบายการเงินสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทำให้คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 0.5% ตลอดทั้งปี
“แม้ธนาคารกลางสหรัฐหรือ เฟด ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า แต่คาด กนง.ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า และอาจจะเริ่มขึ้นในปี 2566 เพราะอัตราการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังต่ำกว่าสหรัฐที่ฟื้นตัวได้เร็ว สหรัฐจึงลดQE และเตรียมขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า โดยในส่วนของไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวและรอนักท่องเที่ยวกลับมาที่จะมาภาพชัดเจนครึ่งหลังของปีหน้า”นายมานะกล่าว
นายกิตติศักดิ์ กวีกิจมณี นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจจะทบทวนกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวและก้าวไปสู่ความเป็น winner ในอนาคต ด้วยการต่อยอดจากกระแสการพัฒนาในโลกยุค New Normal นำไปสู่การปรับโครงสร้างธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับการลงทุนรองรับธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตหรือ “GROWTH” ได้แก่
1. Green Economyนโยบาย BCG ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนด้านไฟฟ้าพลังงานทดแทน เช่น แสงอาทิตย์ราว 0.38-1.18 แสนล้านบาท ในปี 2037 การลงทุนโปรตีนจากพืช 4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2024
2. การส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวมูลค่าสูงและยั่งยืนรองรับการเปิดประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่ม wellness tourist หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จะช่วยแก้ไขรายได้จากปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ โดยกลุ่ม wellness tourist จะมีค่าใช้จ่ายต่อหัวมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 53 % หรือราว 1,528 เหรียญสหรัฐ/คน/ทริป
3. การยกระดับ Productivity ด้วยการปรับกลยุทธ์การบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ท่ามกลางกระแสการแย่งชิง Talent โลกที่เข้มข้นขึ้น โดย ช่วง โควิด-19 ทำให้เกิดการปรับตัวในการทำงานก่อให้เกิดวิกฤติการจ้างงานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีกระแสลาออกครั้งยิ่งใหญ่ เช่น สหรัฐ ไอร์แลนด์
4. การลงทุนต่อยอดจากเทคโนโลยีแห่งอนาคต เช่น AI, IIoT, Blockchain, cloud computing
5. ธุรกิจดูแลสุขภาพอาจต้องปรับโมเดลกิจการให้รองรับสถานการณ์การอยู่ร่วมกับโควิด-19 ในระยะยาว
ดังนั้น หากธุรกิจสามารถจับกระแสและใช้ประโยชน์จากทิศทางดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ ก็จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้เร็วขึ้น และจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงของการระบาดของโควิด-19 รวมถึงปัจจัยความไม่แน่นอนอื่นๆ ที่อาจเข้ามากระทบเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างแข็งแกร่งขึ้น.-สำนักข่าวไทย