โตเกียว 29 ต.ค. – รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ และบริษัทหลาย ๆ แห่งทั่วโลกกำลังพยายามเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อลดการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก บริษัทในญี่ปุ่นแห่งหนึ่งพัฒนากังหันลมที่ผลิตพลังงานจากพายุไต้ฝุ่น
บริษัทสตาร์ทอัพที่ชื่อ “ชาลเลนเนอจี” (Challenergy) ในญี่ปุ่นได้ออกแบบกังหันที่ปกติต้องปิดเมื่อเจอพายุให้สามารถทำงานได้ในสภาพอากาศที่เป็นพายุรุนแรงและเปลี่ยนแปลงแรงลมให้เป็นแหล่งพลังงาน ในประเทศญี่ปุ่นพลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ ส่วนใหญ่มาจากแสงอาทิตย์ โดยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเพิ่งจะมาส่งเสริมการใช้กระแสลมมาผลิตพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานลมที่มาจากนอกชายฝั่ง แต่ญี่ปุ่นมักต้องเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นและพายุโซนร้อนเฉลี่ยปีละ 26 ลูกและนักอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า ญี่ปุ่นต้องเจอกับพายุบ่อยมากขึ้นและรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น การพัฒนาแหล่งพลังงานจากลมจึงถูกมองว่าเป็นงานที่ยากลำบาก อัตซูชิ ชิมิสุ ก่อตั้งบริษัทชาลเลนเนอจี ในช่วงเวลา 3 ปี หลังจากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมา เมื่อปี 2011 เนื่องจากเหตุการณ์นี้ทำให้เขาพยายามค้นหาแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน เขากล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมายของบริษัทของเขาก็คือการเปลี่ยนไต้ฝุ่นให้เป็นพลัง กังหันลมที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมีใบพัดขนาดใหญ่ ลักษณะแบบใบมีด จะอยู่ในสภาพเปราะบางเมื่อมีพายุ แต่ชาลเลนเนอยี ไม่ได้ใช้ใบพัดแบบปกติ แต่ใช้ระบบที่เรียกว่า “แม็กนัส เวอร์ติคัล แอกซิส วินด์ เทอร์ไบน์” เป็นกังหันลมที่มีแกนหมุนและใบพัดตั้งฉากกับการเคลื่อนที่ของลมในแนวราบ ซึ่งทำให้สามารถรับลมในแนวราบได้ทุกทิศทาง และโครงสร้างมีความมั่นคงมากกว่าในการต้านทานกระแสลมพายุ เมื่อเดือนสิงหาคม ทางบริษัทเริ่มการทดสอบหอผลิตกระแสไฟฟ้า 10 กิโลวัตต์ในฟิลิปปินส์ เนื่องจากฟิลิปปินส์ก็เป็นประเทศหนึ้งที่เผชิญกับพายุปีหนึ่งหลายลูก เช่นเดียวกับญี่ปุ่นและไต้หวัน.-สำนักข่าวไทย