รัฐสภา 31 ม.ค.-“มีชัย” เล็งติดดาบศาลฎีกานักการเมือง พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้แก้ปัญหาหลบหนีคดี แนะร่างกฎหมายคุ้มครองสื่อควรให้สื่อมีส่วนร่วม ขณะกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติใกล้เสร็จแล้วเตรียมส่งรัฐบาล
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ กรธ.จะเชิญผู้แทนจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาหารือว่าเบื้องต้นทางศาลได้เสนอให้การอุทธรณ์คดี จำเลยต้องมาขออุทธรณ์ด้วยตัวเอง หากอยู่ระหว่างการหลบหนีก็ให้พักคดีนั้นไปก่อนโดยไม่นับอายุความ แต่ กรธ.เห็นว่าหากสามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการพักคดี เพราะการขยายเวลาออกไปอาจส่งผลต่อรูปคดีได้ อาทิ พยานหลักฐานสูญหาย แต่การพิจารณาคดีลับหลังมีความเป็นธรรมมากกว่า เนื่องจากมีการพิจารณามาตั้งแต่ชั้นขอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
นายมีชัย ยังให้ความเห็นถึงการผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสื่อฯ ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หลังจากมีการตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมายดังกล่าวเปิดทางให้รัฐเข้ามาครอบงำสื่อ ว่า เรื่องนี้รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพสื่อเต็มที่ มีเจตนารมณ์ให้สื่อสามารถตรวจสอบกันเองหากสื่อเห็นต่างกับร่างกฎหมายดังกล่าวก็สามารถที่จะแย้งไปยัง สปท.ได้ ส่วนตัวมองว่าเปิดทางให้สื่อเข้ามาร่วมร่างกฎหมาย โดยอาจจะตั้งอนุกรรมการที่เป็นสื่อด้วยกันทั้งหมดมาพิจารณาร่วมกัน เพราะไม่มีใครเข้าใจดีเท่ากับสื่อด้วยกัน
นายมีชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้การร่างกฎหมายว่าด้วยแผนการปฏิรูปและกฎหมายว่ายุทธศาสตร์ชาติ ขณะนี้ใกล้เสร็จสิ้นแล้ว เตรียมส่งให้รัฐบาลพิจารณา ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับวิธีการปฏิรูปและกำหนดยุทธศาสตร์ว่าใครรับผิดชอบเรื่องอะไร กรรมการยุทธศาสตร์จะมาจากไหนและรับฟังความเห็นจากใครบ้าง ยังไม่ใช่กฎหมายที่เป็นรายละเอียด แต่จะมีการกำหนดเป้าหมายใหม่ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ว่าจะมีการปฏิรูปไปสู่อะไร มีขั้นตอนการทำงานอย่างบูรณาการ ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างทำ
ส่วนคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ( ป.ย.ป.) ที่รัฐบาลตั้งขึ้นนั้น นายมีชัย กล่าวว่า เพื่อวางแนวทางล่วงหน้าตามทิศทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดหลังจากกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ จะได้เห็นผลเป็นรูปธรรม ยืนยันว่าคณะกรรมการ ป.ย.ป. ไม่ใช่คณะกรรมการตามกฎหมายยุทธศาสตร์ที่กำลังร่าง อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้จะมีการตราขึ้นหลังร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เมื่อตราขึ้นแล้ว จะมีการออกเป็นกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติต่อไป.-สำนักข่าวไทย