รพ.จุฬาฯ 19 ส.ค.-นายกฯ ตรวจเยี่ยมระบบการดูแลและติดตามผู้ป่วยโควิด-19 แบบโฮมไอโซเลชัน พร้อมให้กำลังใจผู้ป่วย ชื่นชมการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ขอให้เร่งพัฒนาให้สำเร็จ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมระบบการดูแลและติดตามผู้ป่วยโควิด-19 แบบโฮมไอโซเลชั่น (Home isolation) และการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยจุดแรกไปตรวจเยี่ยมการดูแลผู้ป่วยแบบโฮมไอโซเลชั่น พร้อมกับพูดคุยกับผู้ป่วยผ่านระบบเทเลเฮลธ์ โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่อยากเห็นภาพการปฎิเสธรับผู้ป่วยโควิด-19 จึงอยากให้ประสานความร่วมมือการทำงานร่วมกัน ขณะนี้ตัวเลขการรักษาผู้ป่วยที่หายมีสูงขึ้น ทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงในระดับหนึ่ง
นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามอาการผู้ป่วยผ่านระบบเทเลเฮลต์ ว่าอาการว่าดีขึ้นหรือไม่ พอใจการรักษาหรือไม่ ยืนยันว่าระบบสาธารณสุขของไทย จะถูกพัฒนาให้ดีขึ้น การรักษาในลักษณะเช่นนี้ เชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นและขอให้ผู้ป่วยหายป่วยโดยเร็ว
นายกรัฐมนตรีได้คุยโทรศัพท์สอบถามอาการผู้ป่วยที่อยู่ในระบบและรับฟังการบรรยายสรุปการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 (ชนิด mRNA) โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมการผลิตวัคซีน ChulaCov19 ว่าเป็นการดำเนินการที่ยอดเยี่ยม อยากให้พัฒนาให้เร็วที่สุด และขอให้มีผลสำเร็จที่สามารถตัดสินใจได้
“รัฐบาลยินดีสนับสนุนงบประมาณ และเมื่อการวิจัยแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะมีผลออกมาในช่วงปี 65 และจะนำเข้าสู่กระบวนการผลิต และให้อย. รับรองตามขั้นตอนต่อไป โดยจะเป็นวัคซีนทางเลือกก่อน และอนาคตอาจจะผลักดันเป็นวัคซีนหลักของประเทศได้” นายกรัฐมนตรี กล่าว
จากนั้นนายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมการผลิตพัฒนาวัคซีนโดยคนไทย ที่ใช้ใบยาสูบซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบโปรตีนซับยูนิต โดยใช้เซลล์พืชเป็นแหล่งผลิต ณ อาคารจุฬาพัฒน์ 14 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งวัคซีนจุฬาฯ-ใบยาเริ่มพัฒนามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผ่านการทดสอบในหนูทดลองและลิง ผลการทดลองพบว่าช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี
ทั้งนี้ สถาบันวัคชีนแห่งชาติกระทรวงสาธารณสุขให้การสนับสนุนงบประมาณ 160 ล้านบาท แก่จุฬาฯ และบริษัทใบยาเพื่อปรับปรุงพัฒนาโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนและชีววัตถุโดยใช้พืช ชั้น 11 จุฬาพัฒน์ 14 ขนาด 1,200 ตารางเมตร ซึ่งผ่านมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยา (อย.) พร้อมรองรับการผลิตวัคซีนในขั้นต้น เริ่มตั้งแต่เพาะเลี้ยงแบคทีเรียพาหะสารพันธุกรรมของโคโรนาไวรัส ปลูกถ่ายลงในใบยาสูบ เพาะพันธุ์เพิ่มจำนวน และเก็บเกี่ยวเพื่อสกัดโปรตีนสำหรับใช้ผลิตวัคซีน ก่อนนำส่งไปทำวัคซีนให้บริสุทธิ์ จากนั้นผสมและแบ่งบรรจุวัคซีนที่สถานเสาวภาต่อไป
สำหรับวัคซีนจุฬา-ใบยา จะทดสอบในมนุษย์ เฟสที่ 1 ช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ คาดว่าในไตรมาส 3 ของปี 2565 สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด 19 ฝีมือคนไทยในประเทศเองได้มาก 1-5 ล้านโดสต่อเดือน หรือราว 60 ล้านโดสต่อปี.-สำนักข่าวไทย