กรุงเทพฯ 28 ก.ค. – ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เผยผลวิจัยสหรัฐพบผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยรายงานการวิจัยของสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสารรายงานป้องกันโรค (Prev Med Rep) ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน ปี 2020 โดยคณะนักวิจัยจากศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่สนับสนุนทุนวิจัยโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติและศูนย์ควบคุมยาสูบ องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ด้วยโจทย์วิจัย “ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของรัฐต่างๆ กับการป่วยจากโควิด-19” ผลการวิจัยพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของรัฐต่างๆ ในปี 2018 สัมพันธ์กับข้อมูลการสำรวจอัตราป่วยและเสียชีวิตจากโควิด-19 ของแต่ละรัฐ ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2020 ที่มีการระบาดของโควิด-19 โดยทุก 1% ของอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 จะเพิ่มขึ้น 0.31 และจำนวนคนที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 0.37 ตามหน่วย Log scale ซึ่งแม้จะเป็นการเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ชี้ว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คณะผู้วิจัยสรุปว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น แสดงว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงที่จะป่วยจากโควิด-19
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นดังกล่าวไม่สนับสนุนข้ออ้างของฝ่ายที่ส่งเสริมการขายบุหรี่ไฟฟ้าที่อ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา ซึ่งก่อนหน้านี้มีรายงานจากสหรัฐอเมริกาว่า วัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 5-7 เท่า และการวิเคราะห์งานวิจัยต่างๆ ก่อนหน้านี้ ล้วนสรุปตรงกันว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจ และทำให้ภูมิต้านทานของปอดลดลง ซึ่งไม่แตกต่างจากการสูบบุหรี่ธรรมดา และจนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้ว่า บุหรี่ไฟฟ้ากับบุหรี่ธรรมดา ทำอันตรายต่อทางเดินหายใจแตกต่างกันหรือไม่
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ทุกประเทศรณรงค์เลิกสูบ ทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า โดยในช่วง 2 ปีนี้ที่มีการระบาดของโควิด-19 จึงขอเชิญชวนให้คนไทยใช้โอกาสที่โควิด-19 ระบาดรุนแรง เลิกสูบทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ ข้อมูลสำรวจของประเทศไทยล่าสุดปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีคนไทยที่เลิกสูบบุหรี่ได้อย่างถาวรแล้วกว่า 4.7 ล้านคน ซึ่ง 9 ใน 10 ของคนไทยที่เลิกบุหรี่ได้ เลิกด้วยตนเอง. – สำนักข่าวไทย