ทำเนียบรัฐบาล 27 ก.ค. – ครม.อนุมัติให้ ก.มหาดไทย ดำเนินการพัฒนา และจัดให้มีระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service – FVS) ให้บริการกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแนวทางการพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID ด้วยการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service – FVS) และอนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการพัฒนา และจัดให้มีระบบ FVS และดำเนินการให้บริการกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบ FVS ที่กระทรวงมหาดไทยพัฒนา มีความมั่นคงปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือ สอดคล้องตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
พร้อมทั้งให้สำนักงบประมาณ สนับสนุนงบประมาณกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและจัดทำระบบ FVS โดยครอบคลุมการพัฒนาและติดตั้งซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การจัดหาอุปกรณ์และพื้นที่จัดเก็บข้อมูลสำหรับการให้บริการและการทดสอบประสิทธิภาพและความมั่นคงปลอดภัยของระบบ ตลอดจนการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐาน และข้อตกลงการให้บริการของระบบ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นสำหรับการบริหารงานและการให้บริการ และให้กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รายงานการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) ในส่วนของการพัฒนาระบบ Digital ID ให้ ครม.ทราบเป็นระยะ
สำหรับการพัฒนาและจัดให้มีระบบ FVS เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาระบบ Digital ID ของประเทศ ในส่วนของการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางสนับสนุนบริการภาครัฐ สำหรับประชาชนและธุรกิจในการเข้าถึงบริการภาครัฐในรูปแบบของการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จโดยระบบ Digital ID ซึ่งรวมถึงระบบ FVS จะสามารถนำมาทดแทนกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางกายภาพ โดยผู้ใช้บริการไม่ต้องเดินทางไปพิสูจน์ตัวตนยังที่ทำการหรือสาขาของหน่วยงานที่ต้องการทำธุรกรรมทุกครั้งได้
ส่วนระบบ FVS ที่กระทรวงมหาดไทยจะพัฒนาขึ้น เป็นระบบที่จะใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (Digital ID) ของผู้รับบริการระบบหนึ่ง โดยมีกลไกการทำงานที่ใช้เทคโนโลยีในการระบุตัวบุคคลด้วยการเปรียบเทียบภาพใบหน้าที่ผู้รับบริการถ่ายส่งเข้าระบบกับฐานข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ โดยใช้ AI ที่มีความแม่นยำตามเกณฑ์มาตรฐานสากล และแจ้งผลในรูปแบบร้อยละของความถูกต้องของภาพถ่ายกับฐานข้อมูลภาพใบหน้า. – สำนักข่าวไทย